TNN สถิตย์ยันประธานบอร์ดธปท.คนใหม่เหมาะสม

TNN

เศรษฐกิจ

สถิตย์ยันประธานบอร์ดธปท.คนใหม่เหมาะสม

ประธานคัดเลือกฯ เสนอรายชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ต่อรมว.คลัง 19 พ.ย.นี้ ชี้เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความรู้ความสามารถ

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน ECONMASS TALK EP.1 จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ได้คัดเลือกฯ ประธานกรรมการธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2567 และจะส่งรายชื่อไปยังนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 19 พ.ย.2567 นี้ หลังจากนั้นรมว.คลังจะเสนอชื่อประธานกรรมการธปท. ไปยังประชุมครม. เห็นชอบแล้วให้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิฯ เป็นอำนาจของรม.คลังที่สามารถแต่งตั้งได้เอง จะเสนอครม.หรือไม่ก็ได้


สำหรับการคัดเลือกตำแหน่งประธานบอร์ดธปท.นั้น เป็นการคัดเลือกจากรายชื่อที่ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธปท.เสนอมา และเป็นการคัดเลือกโดยลงทะเบียนลับ โดยยืนยันว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกนั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม และเป็นที่มีความรู้ความสามารก


ทั้งนี้เมื่อถูกคัดเลือกให้เป็นประธานบอร์ดธปท.แล้ว ถือว่าเป็นคนของธปท.ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของธปท. และต้องรักษาผลประโยชน์ให้กับธปท. และประเทศชาติ มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน


พร้อมทั้งระบุว่า ประธานบอร์ดแบงก์ชาติไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ว่า ธปท.  และปลดผู้ว่าธปท.  ซึ่งตั้งแต่มีพรบ.แบงก์ชาติฉบับใหม่ ปี 2551 ยังไม่เคยมีการเสนอให้ปลดผู้ว่าธปท. และถ้าดูการทำหน้าที่ของผู้ว่าธปท.คนปัจจุบัน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท. ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นน่าจะวางใจได้ว่าไม่ถูกปลด ยกเว้นลาออกเอง แต่มองว่าไม่ควรลาออก ควรต้องทำงานด้วยกันต่อไป


สำหรับข้อกังวลว่า ประธานแบงก์ชาติจะไปแทรกแซงนโยบายการเงิน นั้นยืนยันว่า ประธานบอร์ดธปท.ไม่มีอำนาจในการบริหารนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน มีเพียงรมว.คลังเท่านั้นที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น ประธานบอร์ดแบงก์ชาติจึงไม่สามารถแทรกแซงการบริหารนโยบายดังกล่าวได้

ส่วนข้อกังวล ในเรื่องทุนการบริหารทุนสำรองนั้น เรื่องนี้มีหลักเกณฑ์การบริหารทุนสำรอง ที่วางเกณฑ์มานานแล้ว ซึ่งคณะกรรมกรรธปท. ต้องบริหารตามเกณฑ์ที่วางไว้ โดยสามารถแก้ไขหลักเกณฑ์ได้ แต่คิดว่าคงไม่มีใครเข้าไปแก้ เพราะเรื่องนี้สุ่มเสี่ยงต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์


กรณีข้อวิจารณ์ในเรื่องความใกล้ชิดการเมือง ที่เป็นคุณสมบัติต้องห้ามนั้น ได้มีการตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าที่ปรึกษาของนายกฯ นั้นเป็นตำแหน่งส่วนตัวของอดีตนายกฯ ไม่ใช่ตำแหน่ง “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย” และขณะนี้ได้มีการลาออกแล้ว


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวว่า "ทุกเสียงสนับสนุนคือกำลังใจ และทุกเสียงที่ติติงคัดค้านคือการเตือนใจ ให้คิดดี พูดดี และปฏิบัติดี"


ที่มา TNN


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง