สงครามการค้าปัจจัยท้าทายศก.ไทย
วิจัยกรุงศรี ชี้ความตึงเครียดทางการค้าในระยะข้างหน้าเป็นปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม
วิจัยกรุงศรีประเมินว่านโยบายภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลเชิงบวกต่อบางอุตสาหกรรม แต่ส่งผลเชิงลบต่อหลายอุตสาหกรรม จากนโยบายภาษีการค้าซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ประกาศไว้ก่อนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งล่าสุด ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่อสงครามทางการค้าที่มีความเสี่ยงทวีความรุนแรงขึ้น
วิจัยกรุงศรีได้ศึกษาโดยสร้างสถานการณ์จำลองเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกรายการในอัตราร้อยละ 60 อาจทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานร้อยละ 1.66 และ GDP ของไทย เพิ่มขึ้นจากกรณีฐานร้อยละ 0.05 ในกรณีนี้แม้ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ แต่การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงจากกรณีฐานเนื่องจากอุปสงค์โลกโดยรวมชะลอลง
กรณีที่ 2 สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 60 และร้อยละ 20 กับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ จะส่งผลเชิงลบต่อไทยโดยการส่งออกจะลดลงจากกรณีฐานร้อยละ 1.09 และ GDP ของไทยลดลงร้อยละ 0.01 ผล กระทบจากความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จะมีการย้ายฐานการผลิตมายังไทยก็ตาม
กรณีที่ 3 จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 60 กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ กรณีดังกล่าวแม้ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตแต่ช่วยให้ GDP ไทยเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานเพียงร้อยละ 0.01 ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยจะลดลงสุทธิจากกรณีฐานร้อยละ 0.77 โดยเป็นการลดลงของการส่งออกในหลายกลุ่มสินค้า อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ยางพาราและพลาสติก เนื่องจากความต้องการสินค้าอื่นๆจากเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ จีนและโลกได้รับผลกระทบหนักจากการตอบโต้ทางการค้า
ในระยะข้างหน้าอาจต้องติดตามว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายการค้าในรูปแบบใด ซึ่งนับว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยท้าทายของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าไทยอาจได้รับประโยชน์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิตและการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม แต่การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกและความผันผวนทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้า
โดยเฉพาะในกรณีที่ 2 และ 3 ที่สหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าจากไทย และจีนตอบโต้สหรัฐฯด้วยการเก็บภาษี ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยมีผลสุทธิเป็นลบ การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ