ไตรมาส 3 คอนโดฯ ใหม่ลดฮวบ 71% l การตลาดเงินล้าน
ตลาดคอนโดมิเนียมยังเผชิญกันแรงกดดันด้านกำลังซื้อและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้ภาพรวมไตรมาส 3 ยังไม่ฟื้น คอนโดมิเนียมใหม่ลดฮวบมากถึงร้อยละ 71
ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย ผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าไตรมาสที่ 2 ตลาดคอนโดมิเนียมเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงน้อยกว่าช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 อัตราการโอนกรรมสิทธิ์กลับลดลงอีก แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น ลดค่าจดทะเบียนจำนองเหลือร้อยละ 0.01 สำหรับคอนโดระดับราคา 3 - 7 ล้านบาท (ตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลาง-ล่าง) ตั้งแต่ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ตาม
โดยสัดส่วนของตลาดในระดับกล่าง-ล่าง คิดเป็น ร้อยละ 86 ของตลาดทั้งหมด ซึ่งตลาดกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ซื้อที่มีความต้องการสินเชื่อ ยังคงประสบปัญหาการขอสินเชื่อ เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้จึงหันไปใช้สินเชื่ออื่น ๆ เช่น บัตรเครดิต เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตปัจจุบันมากกว่า ส่งผลให้ความต้องการด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของคนที่มีกำลังซื้อกลุ่มนี้ลดลง จากปัญหาดังกล่าวทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมยังคงทรงตัว เนื่องจากมีคอนโดฯ ในตลาดที่ยังขายไม่หมดอยู่ประมาณ 30,000 หน่วยจากโครงการที่สร้างเสร็จ
คอนโดมิเนียมใหม่ในไตรมาสนี้ มีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 71.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 โดยมีหน่วยเปิดขายใหม่ทั้งหมด 2,093 หน่วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการในระดับราคา 100,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไป ขณะที่โครงการที่มีระดับราคาต่ำกว่า 80,000 บาทต่อตารางเมตรมีเพียง 400 หน่วยเท่านั้น
ขณะที่ ไตรมาส 3 หน่วยขายใหม่และยอดจองในตลาดคอนโดมิเนียมแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัว โดยหน่วยขายใหม่มีเพียงร้อยละ 25 ของ 2,093 หน่วยที่เปิดขาย นอกจากนี้ หน่วยขายในโครงการที่สร้างเสร็จแล้วก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งสะท้อนจากยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ลดลงในไตรมาสนี้ ปัญหานี้เกิดจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตลาดคอนโดมิเนียมยังต้องเผชิญกันแรงกดดันด้านกำลังซื้อและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อใหม่จะปรับลดลงร้อยละ 0.25 แต่ในภาพรวมถือว่ายังทรงตัวและคาดว่าตลาดจะยังคงชะลอตัวอยู่ แนวโน้มของตลาดคอนโดมิเนียมในภาพรวมยังคงไม่ฟื้นตัวดีนักในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศที่ระบุว่าความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
สำหรับอีก 6 เดือนข้างหน้า รายได้ส่วนบุคคลอาจจะมีการฟื้นตัวขึ้น ส่งผลความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ยังไม่กลับสู่ระดับปกติ ซึ่งสะท้อนจากการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยที่อยู่อาศัยยังคงชะลอตัว (อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย) รวมถึงความระมัดระวังการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินตามความเสี่ยงของเครดิตผู้กู้
ข่าวแนะนำ