TNN ไทยไม่ถูกหั่นเครดิต ฟิทช์คงเรทติ้ง "BBB+"

TNN

เศรษฐกิจ

ไทยไม่ถูกหั่นเครดิต ฟิทช์คงเรทติ้ง "BBB+"

การพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของไทยล่าสุดโดย "Fitch Ratings" ยังคงที่ที่ระดับ "BBB+" พร้อมด้วยมุมมองความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพ ซึ่งข่าวดีนี้ เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดการเงินได้ เพราะก่อนหน้านี้ ตลาดค่อนข้างกังวลจากกระแสข่าวที่ว่าไทยอาจเสี่ยงถูกโดนลดอันดับเครดิต

คุณพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ "Fitch Ratings" ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับ "BBB+" และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ตามเดิม


โดย "Fitch Ratings" ให้รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการคงอันอดับเครดิตไว้ดังนี้


เริ่มที่ประเด็นด้านเศรษฐกิจ "Fitch" คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องโตจากร้อยละ 2.6 ในปี 2567 เป็นร้อยละ 3.1 ในปี 2568 จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีหน้า นักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดการระบาด จากนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชนเป็นสำคัญ อีกทั้งกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ยังมีความเข้มแข็งในการรับมือกับความท้าทาย อาทิ รายได้ต่อหัว และดัชนีธรรมาภิบาล (World Governance Indicators: WGI) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (Peers) อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องอาจทำให้มุมมองความเสี่ยงทางการคลังในระยะปานกลางเพิ่มขึ้นได้


ในส่วนความเห็นต่อภาคการคลัง "Fitch" ชี้ว่ายังคงมีเสถียรภาพ แม้รัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายขาดดุล โดยปี 2568 จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกันที่ร้อยละ 3.2 ขณะที่รัฐบาลมีความพยายามปรับลดการขาดดุลงบประมาณ เพื่อเข้าสู่สมดุลทางการคลัง อันจะมีผลให้ระดับหนี้สาธารณะปรับเข้าสู่ระดับมีเสถียรภาพใกล้เคียงกับค่ากลางของประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกันในระยะต่อไป


สำหรับประเด็นหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) "Fitch" คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 61.2 ของ GDP ภายในปี 2569 และจะยังคงอยู่ในระดับดังกล่าวไปจนถึงปี 2571 ซึ่งสะท้อนถึงการปรับลดงบประมาณรายจ่ายแบบค่อยเป็นค่อยไปหลังจากปี 2568 ซึ่งกรณีหนี้สาธารณะของประเทศไทย "Fitch" มองว่ามีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างเสถียรภาพทางการคลังในระยะปานกลาง ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลสามารถระดมทุนด้วยต้นทุนต่ำ เนื่องจากตลาดการเงินภายในประเทศเอื้ออำนวยและมีการบริหารการคลังที่เข้มแข็ง 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง