ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท! ปลัดกระทรวงแรงงาน ไม่ยืนยันทันปีใหม่หรือไม่
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุช อยู่ระหว่างรอแต่งตั้งคณะกรรมการค่าจ้าง ไม่ยืนยันเป็นของขวัญปีใหม่ทันหรือไม่
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงาน แก่ข้าราชการกระทรวงแรงงานทั่วประเทศเพื่อขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงแรงงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ถึงความคืบหน้าการพิจารณา ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ท่านเพื่อทดแทนกรรมการคนเก่าที่หมดวาระจากการเกษียณอายุราชการไป โดยยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้แทนภาคส่วนราชการนั้น จะต้องรอให้ทางกระทรวงการคลัง ส่งรายชื่อผู้แทนเข้ามา ส่วนจะเป็นผู้แทนจากกระทรวงการคลังโดยตรง หรือเป็นผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของกระทรวงการคลัง ซึ่งหากแต่งตั้งคณะกรรมการค่าจ้างได้สมบูรณ์แล้ว ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะกำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาค่าจ้างฯ ต่อไป แต่ ไม่ยืนยันว่าจะทันภายในปีนี้หรือไม่
ส่วนเรื่องมีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการเพิ่มค่าจ้างฯ ต้นปี 2568 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่เหมือนทุกๆ ปีใช่หรือไม่ นายบุญสงค์ กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ ต้องรอการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ว่าจะมีการพิจารณาไปทางใด เพราะไม่ใช่ดุลพินิจของปลัดกระทรวงแรงงานคนเดียว ขึ้นอยู่กับว่าตั้งกรรมการได้ครบเมื่อไหร่ก็จะประชุมทันที ซึ่งตนเชื่อว่าในปีนี้เราน่าจะประชุมได้และขับเคลื่อนได้ โดย ตัวเลขเป้าหมายที่จะปรับค่าจ้างอีกครั้งนี้ยังเป็น 400 บาททั่วประเทศหรือไม่ ขอไม่ยืนยัน เพราะเป็นดุลยพินิจของบอร์ดค่าจ้างฯ
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ดค่าจ้างฯ ชุดที่ 22 ยังมีเวลาการทำงาน โดยจะหมดวาระในวันที่ 22 มีนาคม 2568 จากนั้นจะทำการเลือกบอร์ดใหม่ ดังนั้นในการตั้ง กรรมการคนใหม่ จำนวน 2 คนที่ เชื่อว่าจะมีการประชุม และพิจารณาค่าจ้างฯ ได้ทันก่อนหมดวาระแน่นอน
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นว่า ในปี 2568 จะมีการเพิ่มค่าจ้างอย่างน้อย 1 ครั้งหรือไม่ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทุกปีเรามีการปรับเพิ่มค่าจ้างอยู่แล้ว ก็คิดว่าคงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นั้น ส่วนของขวัญปีใหม่ ยอมรับว่า มีให้แรงงานแน่นอน แต่จะเป็นในรูปแบบใด อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในเดือน ธันวาคม นี้
นอกจากเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภายในประเทศ กระทรวงแรงงาน ยังเน้นย้ำนโยบายการขยายตลาดแรงงานไทยไปต่างประเทศ เพราะแรงงานไทยยังคงเป็นที่ต้องการ ในหลายประเทศทั่วโลก โดยจะส่งแรงงานไปต่างประเทศเป้าหมาย อย่างน้อย 1 แสนคน ภายในปี 68 เช่น ในอิสราเอล แม้สถานการณ์สู้รบจะรุนแรง แต่ยังไม่มีข้อสังเกตข้อเสนอแนะจากทางอิสราเอลในการให้หยุดส่งแรงงาน เพราะปัจจุบันแรงงานที่เข้าไปทำงานในอิสราเอลออกมาอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว
ข่าวแนะนำ