TNN GDP อินโดนีเซียโตต่ำหลังการบริโภคอ่อนแอ

TNN

เศรษฐกิจ

GDP อินโดนีเซียโตต่ำหลังการบริโภคอ่อนแอ

GDP อินโดนีเซีย โตต่ำกว่าคาดในไตรมาส 3 หลัง การบริโภคในประเทศอ่อนแอ แต่ภาคการก่อสร้างโต ด้านผู้นำอินโดนีเซียคนใหม่ ตั้งเป้าเติบโต 8%

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโต 4.95% ในไตรมาสเดือนก.ค.ถึงเดือนก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5% ลดลงจากระดับ 5.05% ในไตรมาสก่อนหน้า


สำนักงานสถิตแห่งชาติอินโดนีเซีย รายงานว่า การบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 4.91% ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 9.09% อย่างไรก็ตาม การบริโภคในครัวเรือนเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการใช้จ่ายสินค้า เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และที่อยู่อาศัย ลดลง


นางอามาเลีย วิเดียซานติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย กล่าวว่า ภาคส่วนการแปรรูปโลหะและการก่อสร้างคือตัวขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดของการเติบโตในไตรมาสที่ 3 โดยได้รับแรงแรงจากโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาเมืองหลวงแห่งใหม่


การรายงานข้อมูล GDP ล่าสุด มีขึ้นหลังจากที่นายปราโบโว ซูเบียนโต เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยนายซูเบียนโต ผู้เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งเป้าหมายอันทะเยอทะยานว่าการการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ระดับ 8% ภายในสิ้นสุดวาระ 5 ปี


อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าเป้าหมายดังกล่าวมีความท้าทาย เนื่องจากยังคงมีการเลิกจ้างงานจำนวนมากในภาคส่วนที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น สิ่งทอ รองเท้า และเทคโนโลยี


รายงานระบุว่า ภายใต้การบริหารของอดีตประธานาธิบดีโจโก วิโดโด นั้น เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตเฉลี่ยที่ 5% ในระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 10 ปี ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการเติบโตเดิมที่ 7%


นางโฮเซียนนา ซิตูโมราง นักเศรษฐศาสตร์จาก Bank Danamon กล่าวว่า หากไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญแล้วละก็ การบรรลุเป้าหมายการเติบโตถึง 5% ก็เป็นเรื่องยาก


ทั้งนี้ ในปี 2566 เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโต 5.05% โดยชะลอตัวลงจากระดับ 5.31% ในปี 2565 เนื่องจากการส่งออกที่อ่อนแอลง โดยธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) คาดการณ์การเติบโตในปี 2567 อยู่ระหว่าง 4.7% ถึง 5.5%


ที่มา นิกเกอิเอเชีย

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง