เกิดอะไรขึ้น? “โบอิ้ง-แอร์บัส” เลิกจ้างสวนทางการบินฟื้น
อุตสาหกรรมการบินที่มีทิศทางฟื้นตัว แต่ทำไมผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ทั้งโบอิ้ง และแอร์บัส ถึงประกาศเลิกจ้างพนักงาน ในปีนี้หลายหมื่นคน
บริษัท โบอิ้ง (Boeing) บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยานและยุทโธปกรณ์ ของสหรัฐ และเป็นผู้ผลิตเครื่องบินที่มีรายได้มากที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตยุทโธปกรณ์อันดับสองของโลก
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โบอิ้งเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตในหลายเรื่อง “โดยเฉพาะกรณีอุบัติเหตุอับุติเหตุเครื่องบิน 737 Max ตก 2 ลำตกในช่วงปี 2561 และ 2562 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน” และยังไม่หมดแค่นี้เมื่อต้นปีนี้เกิดกรณีประตูเครื่องบินโดยสาร 737 Max 9 ของสายการบินอะแลสกา แอร์ไลน์ หลุดกลางอากาศ ทำให้ภาพลักษณ์โบอิ้งเสียหายอย่างหนัก
“นอกจากนี้ยังมีปัญหาการผลิตเครื่องบินรุ่น 777X” โดยเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมาโบอิ้งได้ยุติการทดสอบการบินของเครื่องบินรุ่น 777X หลังจากพบความเสียหายในส่วนประกอบ ซึ่งอยู่ระหว่างเครื่องยนต์และโครงสร้างของเครื่องบิน ระหว่างการซ่อมบำรุงตามกำหนด ด้วยเหตุนี้ เครื่องบินรุ่น 777-9 ที่เหลืออีก 3 ลำในฝูงบินทดสอบจึงระงับการทดสอบ และไม่มีการกำหนดการทดสอบการบินของเครื่องบินรุ่นอื่นเมื่อใด ซึ่งข้อมูลกับองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ระบุว่ามีผู้สั่งซื้อเครื่องบินดังกล่าวไปแล้วกว่า 480 ลำ ซึ่งการระงับการทดสอบการบินและปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการได้รับการรับรองและการส่งมอบเครื่องบินรุ่นดังกล่าว ซึ่งมีกำหนดจะส่งมอบในปี 2568 ต้องล่าช้าออกไป จากเดิมล่าช้ากว่ากำหนดมาประมาณ 5 ปีแล้ว
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา “โบอิ้ง ประกาศจะปลดพนักงาน 17,000 คน” ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของพนักงานทั้งหมดของโบอิ้งทั่วโลก โดยโบอิ้งระบุว่าจะเลื่อนการส่งมอบเครื่องบิน 777X ครั้งแรกออกไป 1 ปี
ก่อนหน้านี้ “โบอิ้งและสหภาพแรงงานขัดแย้งกันเกี่ยวกับค่าแรงและข้อเรียกร้องอื่น ๆ โดยพนักงานกว่า 30,000 คนนัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. 2567” ทำให้โรงงานต่าง ๆ ของโบอิ้งใกล้เมืองซีแอตเทิลที่ผลิตเครื่องบินโดยสาร ซึ่งรวมถึงเครื่องบินรุ่นขายดีอย่าง 737 Max ต้องหยุดการผลิต ซึ่งการหยุดงานในแต่ละวันทำให้โบอิ้งเสียหายประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งผลให้โบอิ้งต้องเริ่มดำเนินมาตรการประหยัดค่าใช้จ่ายขนานใหญ่ ซึ่งรวมถึงการสั่งให้พนักงานพักงาน การระงับการจ้างงานใหม่ และการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางของบริษัท
สัปดาห์ก่อนหน้านี้ “โบอิ้ง รายงานตัวเลขขาดทุนมหาศาลกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสที่ 3/2567” เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการนัดหยุดงานของพนักงาน ส่วนรายได้ลดลงเหลือ 17,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
โบอิ้งได้ออกมาเตือนนักลงทุนให้เตรียมรับข่าวร้าย โดยเตือนว่าบริษัทกำลังเผชิญกับการขาดทุนรายไตรมาสที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและยอดขายที่ลดลง โดยยังคงเดินหน้าปรับลดพนักงานตามแผนที่วางไว้
ในขณะที่โบอิ้งเจอวิกฤต แอร์บัสก็เผชิญกับปัญหาเช่นกัน เมื่อกลางเดือนต.ค. แอร์บัส (Airbus) ของประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงาน 2,500 คน ในแผนกธุรกิจอวกาศและการป้องกันประเทศ หลังจากใช้เวลาหลายเดือนแก้ปัญหาในธุรกิจดาวเทียม ที่เผชิญภาวะขาดทุนอย่างหนัก
แอร์บัสระบุว่ามีแผนจะเลิกจ้างพนักงานซึ่งคิดเป็นร้อยละ 7 ของพนักงานทั้งหมด ภายในกลางปี 2569 หลังจากเจรจากับสหภาพแรงงานแล้ว ซึ่งแอร์บัสจะยังไม่ปรับโครงสร้างในทันทีแต่จะให้เวลาพนักงานได้ปรับตัวก่อนประมาณปีครึ่ง
ธุรกิจอวกาศและการป้องกันประเทศของแอร์บัส มีพนักงาน 35,000 คน และเป็นแผนกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของแอร์บัส โดยนอกจากผลิตเครื่องบินในเชิงพาณิชย์แล้ว แอร์บัสยังมีการผลิตดาวเทียมและอากาศยาน ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดขีปนาวุธ เครื่องบินรบ และโครงการอวกาศในยุโรป แต่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก จากความต้องการดาวเทียมที่ลดลง
พาไปดูบริษัทผลิตเครื่องบินอีกแห่งหนึ่ง กำลังถูกจับตามองอย่างมาก โดย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เครื่องบินเออาร์เจ21 (ARJ21) เครื่องบินโดยสารที่พัฒนาโดยบริษัทอากาศยานพาณิชย์แห่งประเทศจีนหรือโคแมก (COMAC) ได้ให้บริการในเส้นทางบินพาณิชย์ระยะทางไกลเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ โดยออกเดินทางจากเมืองมานาโดของอินโดนีเซีย และลงจอดที่เมืองกว่างโจวในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน
เที่ยวบินข้างต้นยังเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศเที่ยวแรกที่ดำเนินการโดยสายการบินต่างประเทศโดยใช้เครื่องบินของจีน และเดินทางมุ่งหน้าสู่จีน
เที่ยวบินขาไป-กลับระหว่างสองเมืองจะให้บริการทุกวันในช่วงปลายเดือนพ.ย. ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจาก 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ในช่วงแรก ซึ่งเที่ยวบินทั้งหมดดำเนินการโดยสายการบินทรานส์นูซา (TransNusa) ของอินโดนีเซีย
สายการบินทรานส์นูซาได้รับมอบเครื่องบินเออาร์เจ21 จำนวน 3 ลำจากโคแมกตั้งแต่เดือนธ.ค. 2565 และเปิดเส้นทางบิน 8 เส้นทางโดยใช้เครื่องบินรุ่นนี้
ARJ21ถือเป็นเครื่องบินพาณิชย์รุ่นบุกเบิกของจีน เริ่มต้นให้บริการเชิงพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ภายใต้การดำเนินการของสายการบินเฉิงตู แอร์ไลนส์ (Chengdu Airlines) หลังจากนั้นมีสายการบินต่างชาติหลายแห่งให้ความสนใจสั่งซื้อพอสมควร
เรื่องนี้ถูกจับตามองว่า เครื่องบินพาณิชย์ของจีน จะก้าวมาแข่งรายใหญ่อย่างแอร์บัส หรือโบอิ้ง ในอนาคตหรือไม่
ข่าวแนะนำ