มาแน่! มือถือ GenAI ราคาต่ำหมื่นบาท l การตลาดเงินล้าน
เคาน์เตอร์พอยท์ รีเสริช คาด 4 ปีข้างหน้า จำนวน 9 ใน 10 ของมือถือ ราคาต่ำกว่า 10,000 บาท จะรองรับ GenAI ได้
บริษัทวิจัยด้านการตลาด เคาน์เตอร์พอยท์ รีเสริช รายงานว่า อุตสาหกรรมสมาร์ตโฟน กำลังมุ่งสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับแต่งได้ตรงกับความต้องการ แบบรายบุคคล หรือเรียกว่า Hyper-personalization ซึ่งขับเคลื่อนโดย Generative AI และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว หลังจากมือถือ GenAI รุ่นแรก ได้ถูกเปิดตัวออกมา
คาดการณ์ว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2571 ยอดจัดส่งสมาร์ตโฟน GenAI จะมีจำนวนมากกว่า 730 ล้านเครื่อง ซึ่งมากกว่าเป็น 3 เท่าจากตัวเลขคาดการณ์ของปี 2567 และยังคาดการณ์อีกว่า จำนวน 9 ใน 10 เครื่องของกลุ่มสมาร์ตโฟนที่มีราคา ไม่ต่ำกว่า 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะสามารถรองรับ GenAI ได้ และเป็นสัญญาณของการนำ GenAI มาใช้ได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น
(ทั้งนี้ เมื่อคำนวณเป็นเงินบาท จะหมายถึง มือถือกลุ่มราคาต่ำกว่า 10,000 บาท ก็จะมี GenAI ให้ได้ใช้ อีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้)
รายงานดังกล่าว ระบุอีกว่า อุตสาหกรรมสมาร์ตโฟน กำลังเปลี่ยนเป้าหมายจากความก้าวหน้าด้านฮาร์ดแวร์แบบดั้งเดิม เช่น การทำหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น หรือโปรเซสเซอร์ที่เร็วขึ้น หรือกล้องที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไปสู่การมอบประสบการณ์ให้แก่ผู้ใช้งานด้าน ความอัจฉริยะ สามารถปรับเปลี่ยนได้ และปรับแต่งได้ตามแต่ละบุคคล โดยแนวคิด Hyper-personalization นี้ จะเริ่มต้นกับสมาร์ตโฟนระดับพรีเมียมก่อน และเมื่อเทคโนโลยี GenAI เติบโตอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะขยายลงไปในเชกเมนต์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตลาดไฮเอ็น, กลาง และล่าง ในที่สุด
มีการประเมินด้วยว่า ในช่วงระหว่างปี 2567 ถึง 2568 สมาร์ตโฟน GenAI จะมีสัดส่วนราวร้อยละ 80 ของกลุ่มราคาพรีเมียม ซึ่งหมายถึงกลุ่มราคาขายส่ง ที่สูงกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ มากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป
จากนั้นจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ GenAI น่าดึงดูดใจมากขึ้น โดยระหว่างปี 2569 ถึง 2570 GenAI ก็จะขยายไปในมือถือกลุ่มไฮเอ็น หรือหมายถึงกลุ่มที่มีราคาขายส่ง อยู่ระหว่าง 400 ถึง 599 ดอลลาร์สหรัฐฯ และไปสู่กลุ่มระดับกลาง หมายถึงกลุ่มราคาขายส่ง ระหว่าง 250 ถึง 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะมีสัดส่วนอยู่ราวร้อยละ 30 และส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนโดยมือถือแบรนด์จีน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมมือถือในปัจจุบันกำลังเร่งให้ เทคโนโลยี GenAI แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งรวมถึง ในสมาร์ตโฟนราคาถูก โดยจะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ เช่น ผู้ผลิตชิปเซ็ต อย่าง Qualcomm กำลังแนะนำโปรเซสเซอร์ที่ปรับแต่ง GenAI ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับกลางและระดับสูง และอีกหลายบริษัทกำลังพัฒนาโมเดลที่เบากว่า พร้อมเทคนิคการปรับแต่งต่างๆ เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพ
ขณะเดียว ผู้ผลิตมือถือ ก็กำลังส่งเสริม GenAI อย่างแข็งขัน เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานโดยรวมของผู้ใช้ โดยเริ่มส่งมอบการอัปเกรดซอฟต์แวร์สำหรับสมาร์ตโฟนรุ่นเก่า เพื่อให้เห็นถึงความสามารถของ AI อีกด้วย
ซึ่งคาดว่า โมเมนตัม นี้ จะช่วยผลักดันการนำ GenAI มาใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ราคาต่ำกว่า 10,000 บาท ได้ ภายในปี 2570 และ 2571 และจะช่วยกระตุ้นความต้องการของตลาดต่อไป ซึ่งเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้สามารถใช้งานสมาร์ตโฟนได้อย่างเป็นส่วนตัวและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
สำหรับตลาดสมาร์ตโฟนไตรมาส 3 ของปีนี้ มีรายงานตัวเลขออกมาแล้ว พบว่ามียอดจัดส่งทั่วโลก เติบโตดีขึ้น ซึ่งสวนทางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังผันผวน โดยบริษัทวิจัยตลาด คือ อินเตอร์เนชันแนล ดาต้า คอร์ปอเรชัร หรือ ไอดีซี (International Data Corporation - IDC) เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 ของปีนี้ การจัดส่งสมาร์ตโฟนทั่วโลก เติบโตได้ถึงร้อยละ 4 โดยมียอดจัดส่ง เป็นจำนวนกว่า 316 ล้าน 1 แสนเครื่อง
ถือเป็นการเติบโตด้านการจัดส่ง เป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกันแล้ว สะท้อนถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แม้จะมีความกังวลต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคก็ตาม
วิลล์ หว่อง (Will Wong) ผู้จัดการฝ่ายวิจัยอาวุโสของ เอพี ไคลแอนต์ ดีไวเซส (AP Client Devices) กล่าวว่า แม้จะมีอุปสรรคทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ตลาดสมาร์ตโฟนก็แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่น โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากผู้จำหน่ายในจีน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ vivo, OPPO, Xiaomi, Lenovo และ Huawei แต่การเติบโตในรอบนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกราย เพราะบางรายยังต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนวัสดุที่สูงขึ้น ส่วนบางบริษัท ก็ได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวยในตลาดเกิดใหม่ เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ซัมซุง ยังคงครองความเป็นผู้นำตลาดได้ แม้จะมียอดการจัดส่งที่ลดลง โดย ซัมซุง มียอดจัดส่งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา จำนวน 57 ล้าน 8 แสนเครื่อง ลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ส่วนแบ่งตลาด ในไตรมาส 3 อยู่ที่ร้อยละ 18.3
โดย ฟรานซิสโค เจโรนิโม (Francisco Jeronimo) รองประธานฝ่ายอุปกรณ์ลูกค้า อีเอ็มอีเอ (EMEA) กล่าวว่า ซัมซุง ยังคงเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มพรีเมียมต่อไป เนื่องจากราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ซึ่งขับเคลื่อนโดยการผสมผสานรุ่นที่ใช้ AI ของกาแลคซี่ ที่แข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เริ่มเปิดตัว ฟีเจอร์ AI ของกาแลกซี่ในรุ่นอื่น ๆ ของซัมซุง และเปิดตัว Galaxy Z Fold6 และ Galaxy Z Flip6 แบบพับได้รุ่นใหม่ ที่มี Galaxy AI ซึ่งช่วยให้ประสิทธิภาพในกลุ่มพรีเมียมดีขึ้น
มาที่อันดับ 2 คือแอปเปิล ซึ่งเป็นอันดับ 2 ในแง่ยอดจัดส่ง มีจำนวน 56 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และมีส่วนแบ่งอยู่ในตลาดโลกที่ร้อยละ 17.7 โดยการเติบโตของแอปเปิล ได้รับแรงหนุนมาจากความต้องการที่แข็งแกร่งของ ไอโฟน 16 และรุ่นก่อนหน้า
ซึ่งทาง Nabila Popal (นาบิลา โพพัล) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Worldwide Client Devices (เวิลด์ไวด์ ไคลแอนต์ ดีไวเซส) กล่าวว่า ไอโฟน 15 ทำผลงานได้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากการส่งเสริมการขายที่หนักหน่วง และกิจกรรมการตลาดที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ แอปเปิล อินเทลลิเจนซ์ และแม้ว่า แอปเปิล จะเปิดตัว แอปเปิล อินเทลลิเจนซ์ แบบสลับกันในตลาดนอกสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังคงเติบโต เนื่องจากคาดว่าลูกค้าจำนวนมากจะอัปเกรดจาก ไอโฟน 13 ไอโฟน 12 และรุ่นก่อนหน้า มาเป็นสมาร์ตโฟนที่ ใช้ เอไอ ใหม่กันเพิ่มขึ้น
มาต่อที่ อันดับ 3 คือ เสียวหมี่ มียอดจัดส่งจำนวน 42 ล้าน 8 แสนเครื่อง เติบโตร้อยละ 3.3 และมีส่วนแบ่งร้อยละ 13.5
ออปโป้ อยู้ในอันดับ 4 ของโลก ด้วยยอดจัดส่งจำนวน 28 ล้าน 8 แสนเครื่อง เติบโตร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ ร้อยละ 9.1
ปิดท้ายที่ อันดับ 5 ยังคงเป็นแบรนด์จีน คือ วีโว่ มียอดจัดส่งข่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา จำนวน 27 ล้านเครื่อง เติบโตสูงถึงร้อยละ 22.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ วีโว่ มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 8.5 ของตลาดโลก
ข่าวแนะนำ