ไทยแข่งชาติอาเซียนชิงศูนย์กลางผลิตชิป
รัฐบาลประกาศเดินหน้าผลักดันไทยเป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป โดยล่าสุดมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ ต้องจับตามว่าจะทำให้ไทยสามารถก้าวไปแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้แค่ไหน
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญใน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมถึงเทคโนโลยี AI ต่าง ๆ ขณะนี้หลายๆ ประเทศต่างมุ่งสู่อุตสาหกรรมชิป เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงมาก
มีความเคลื่อนไหวในไทย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน มีพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นรองประธานฯ ส่วนกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง
การแต่งตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ไทยมียุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน “ในการผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ฯ ของภูมิภาค”
คณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์ฯ มีหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบาย และกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บทของการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม และครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมการลงทุน การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรทักษะสูงทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา การพัฒนา Supply Chain และการพัฒนาระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ จะพิจารณาแผนงานและโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ฯ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งการบูรณาการและติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ฯ ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะทำให้เกิดการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี การที่ไทยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ก็จะมีการผลักดันทั้งในเรื่องการลงทุน และการเตรียมคนรองรับ ส่วนเครื่องมือที่จะใช้ผลักดันการลงทุน สามารถใช้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในการสนับสนุนเพิ่มเติมได้
ไทยกำลังจะมีโรงงานผลิตชิปต้นน้ำแห่งแรก ซึ่งเป็นการผลิตชิป Wafer Fabricatio nของบริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากการลงทุนจากบีโอไอไปแล้ว
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบโรงงาน และเตรียมก่อสร้างในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนธันวาคมของปีนี้ หลังจากนั้นใช้เวลาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรประมาณ 2 ปี ก่อนจะเริ่มผลิตในช่วงไตรมาสแรกของปี 2570
บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. เงินลงทุน เฟสแรกกว่า 11,500 ล้านบาท
โครงการดังกล่าวจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตชิปชั้นนำของเกาหลีใต้ เพื่อผลิตชิป (Wafer) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) ขนาด 6 นิ้ว และ 8 นิ้ว โดยชิปดังกล่าวมีคุณสมบัติสำคัญที่แตกต่างจากชิปทั่วไปที่ผลิตจากซิลิคอน คือ สามารถทนกระแสไฟฟ้าและความร้อนสูงได้ จึงเหมาะสมสำหรับการใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการแปลงพลังงานไฟฟ้า เช่น เครื่อง Server ใน Data Center อุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า Inverter ในยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุปกรณ์แปลงพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตสูงมาก
ทางบีโอไอ ระบุว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย แต่ที่ผ่านมาบทบาทอยู่ในขั้นกลางน้ำ คือ การรับจ้างประกอบและทดสอบ ดังนั้นการลงทุนผลิตชิปต้นน้ำในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ส่งผลต่อการยกระดับอุตสาหกรรมชิปของไทย
นอกจากจะช่วยสร้างงานและการพัฒนาบุคลากรแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่ซัปพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ และนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศของอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งจะช่วยให้สามารถดึงดูดผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำ รายอื่นๆ ให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
ไม่ใช่แค่ไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมชิป เพื่อนบ้านในอาเซียนทั้ง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ต่างให้ความสำคัญเรื่องนี้ไม่แพ้กัน
“ฟิลิปปินส์” พยายามขอความช่วยเหลือจากบริษัทชิปรายใหญ่ของไต้หวัน โดยเรื่องนี้ได้รับการผลักดันจากองค์กรอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ของฟิลิปปินส์ (SEIPI) ที่วางเป้าหมายดึงบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง (TSMC) และยูไนเต็ด อิเล็คทรอนิกส์ (UMC) ให้เข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไต้หวันและฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อกัน และทั้งสองฝ่ายต่างเผชิญความสัมพันธ์ตึงเครียดกับจีนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมีการประเมินว่าอาจได้เห็นความร่วมมือกันในไม่ช้านี้
“เวียดนาม” ให้สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนชิป ทั้งลดหย่อนภาษีสูงสุด 150% รวมถึงการอนุมัติวีซ่าแบบเร่งด่วน
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานเมื่อเดือนกันยายนว่า เวียดนามกำลังร่างกฎหมายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลฉบับใหม่ ซึ่งมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์มากมาย เพื่อดึงดูดบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ซึ่งภายใต้ร่างกฎหมายมีการให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลงทุน อนุมัติวีซ่าแบบฟาสต์แทรกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในโครงการ และการใช้ที่ดินฟรีเป็นเวลา 10 ปี นอกจากนี้ได้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่าตั้งแต่ 160 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5,000 ล้านบาท) จะได้รับการพิจารณาเอกสารอย่างเร่งด่วน และยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับวัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รวมถึงการยกเว้นภาษีรายได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน
“มาเลเซีย” ประกาศทุ่มเงินอย่างน้อย 5 แสนล้านริงกิต ( กว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมวางแผนฝึกอบรมวิศวกรทักษะสูง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์ที่ประกาศออกมาเมื่อเดือนพ.ค. 2567 โดยมาเลเซียเตรียมจัดสรรเงินสนับสนุนต่อเนื่อง 5-10 ปี เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรผู้มีความสามารถและการเติบโตของบริษัทในท้องถิ่น โดยเงินทุนก้อนดังกล่าวมาจากกองทุนเพื่อความมั่งคั่งมาเลเซีย เช่น กองทุน คาซานาห์ เนชั่นแนล ของมาเลเซีย
มาเลเซียเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งครองสัดส่วน ร้อยละ 13 ของตลาดโลกในด้านการบรรจุและทดสอบชิป โดยมาเลเซียถือเป็นผู้ส่งออกชิปอันดับ 6 ของโลก และที่ผ่านมาได้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทชั้นนำทั้งอินเทล (Intel) และอินฟินีออน (Infineon) แต่มาเลเซียยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะต้องการให้มีการลงทุนด้านการออกแบบวงจรรวม บรรจุภัณฑ์ขั้นสูงและอุปกรณ์การผลิตชิป รวมถึงมาเลเซียต้องการก่อตั้งบริษัทในประเทศอย่างน้อย 10 แห่ง ที่เป็นบริษัทด้านการออกแบบและการบรรจุชิปขั้นสูง
“สิงคโปร์” มีรายงานว่า ระหว่างการเยือนสิงคโปร์ของ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีของอินเดีย เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นายกฯ อินเดียได้พบกับ “ลอว์เรนซ์ หว่อง” นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ซึ่งทั้งสองได้ลงนามในข้อตกลง เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยสิงคโปร์จะสนับสนุนอินเดียในการพัฒนาชิป ในขณะที่อินเดียพร้อมส่งเสริมการลงทุนของบริษัทสิงคโปร์ในอินเดีย และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในตลาดขนาดใหญ่ในประเทศ โดยสิงคโปร์ มีประสบการณ์หลายสิบปีในอุตสาหกรรมชิป แม้จะมีพื้นที่เล็กและต้นทุนการดำเนินงานสูง แต่ในปัจจุบัน สิงคโปร์ครองสัดส่วนร้อยละ 10 ของอุปทานผลิตชิปทั่วโลก และครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์
ข่าวแนะนำ