ธุรกิจร้านอาหารโตแรงแข่งเปิดสาขาชิงลูกค้า
ธุรกิจร้านอาหารของไทยมีแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอาหารไทยติดอันดับการจัดอาหารระดับโลกมานานหลายปี ทำให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากขึ้น แต่ธุรกิจอาหารต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จนทำให้ยอดปิดกิจการในปีนี้แซงหน้ายอดเปิดกิจการใหม่ไปแล้ว
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์วิเคราะห์จุดแข็งและโอกาสของอาหารไทย พบว่า จุดแข็งของอาหารไทย คือ ภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ชื่นชอบทั้งในและต่างประเทศ อาหารไทยมีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบสำคัญ ทำให้อาหารไทยได้รับการยกย่องเป็น ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ นอกจากนี้ อาหารไทยมีความหลากหลายตามภูมิภาค ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มเช่นเดียวกัน
“อาหารไทย ถูกยกให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ อันดับ 1 ของประเทศไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ทั้งรสชาติ การตกแต่ง ความสวยงาม จนได้รับจัดอันดับให้อาหารไทยเป็นอาหารที่ดีที่สุดในโลกสถาบันนานาชาติด้านอาหารหลายครั้ง เช่น Tasteatlas Awards 2024 ประกาศให้อาหารไทยเป็นอาหารที่ดีที่สุดในเอเชียนอันดับ 5 และอาหารไทยยังติดอันดับที่ 17 จาก 100 อันดับอาหารที่ดีที่สุดในโลกของ Tasteatlas Awards 2024 ด้วยเช่กนัน รวมถึงในปี 2566 ประเทศไทยมีร้านอาหารที่ได้รางวัล MICHELIN Guide แล้ว 441 ร้าน ถือว่าไม่น้อย”
ร้านอาหารไทยมีการเติบโตตามกระแสการรักสุขภาพ ตอบโจทย์เทรนด์รับประทานอาหารโลกที่ให้ความสำคัญทั้งสุขภาพและรสชาติ ภาครัฐให้การสนับสนุนและผลักดันธุรกิจอาหารไทยผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึง การเติบโตของตลาดออนไลน์ที่สามารถสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ซึ่งการตลาดออนไลน์ทำให้ร้านอาหารไทยเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและมากขึ้น
จากวิเคราะห์ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ‘ธุรกิจร้านอาหารไทย’ เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งด้านการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและผลประกอบการ
การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย “ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 - 2566) มีจำนวนเฉลี่ย 2,560 ราย / ปี” แบ่งเป็น
ปี 2562 จัดตั้ง 2,100 ราย ทุน 4,290 ล้านบาท
ปี 2563 จัดตั้ง 1,700 ราย (ลดลงร้อยละ 18) ทุน 3,400 ล้านบาท (ลดลง ร้อยละ 19)
ปี 2564 จัดตั้ง 1,900 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ10) ทุน 3,300 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ4)
ปี 2565 จัดตั้ง 3,000 ราย (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 59) ทุน 6,500 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 96)
ปี 2566 จัดตั้ง 4,000 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ33) ทุน 8,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23)
ปี 2567 มกราคม - สิงหาคม จัดตั้ง 2,800 ราย ทุน 5,800 ล้านบาท
ส่วนรายได้รวมของธุรกิจร้านอาหาร 3 ปีย้อนหลัง (2564 - 2566) เติบโตขึ้นทุกปีเช่นกัน โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2566 มีรายได้รวม 306,600 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 25)
ขณะที่ผลประกอบการ พบว่า ในปี 2566 ธุรกิจร้านอาหารมีกำไรในภาพรวม 9,700 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 187)
นอกจากคนไทยแล้วยังชาวชาติที่ลงทุนในธุรกิจร้านอาหารนิติบุคคลไทยกว่า 29,000 ล้านบาท โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1) อเมริกา 6,000 ล้านบาท (ร้อยละ 21)
2) ญี่ปุ่น 3,100 ล้านบาท (ร้อยละ 11)
3) จีน 2,300 บาท (ร้อยละ 8)
4) อินเดีย 2,100 ล้านบาท (ร้อยละ 7.5)
5) ฝรั่งเศส 1,600 ล้านบาท (ร้อยละ 5.5)
ปัจจุบันมีนิติบุคคลร้านอาหารที่ดำเนินกิจการอยู่ 44,500 ราย ทุนรวม 220,900 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) จำนวน 43,800 ราย (ร้อยละ 99) และมีการดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด 36,500 ราย (ร้อยละ 82) ทุน 192,700 ล้านบาท (ร้อยละ 87)
นิติบุคคลส่วนใหญ่ตั้งอยู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร 19,300 ราย (ร้อยละ 43) โดย 3 อันดับแรกตั้งอยู่ เขตวัฒนา เขตบางรัก และเขตคลองเตย)
รองลงมา ภาคใต้ 7,900 ราย (ร้อยละ 18) โดย 3 อันดับแรกตั้งอยู่ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่)
ภาคตะวันออก 6,100 ราย (ร้อยละ 13) โดย 3 อันดับแรกตั้งอยู่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ตราด
แม้ว่าตัวเลขร้านอาหารมีแนวโน้มดี แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยต้องมีการปรับตัวให้รับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และแนวโน้มการประกอบธุรกิจที่ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน เช่น
ด้านเทคโนโลยี ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจ เช่น ระบบการสั่งอาหารออนไลน์ ระบบการชำระเงิน มีการใช้โซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์ในช่วยในการทำการตลาดและเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
ด้านผลิตภัณฑ์ ต้องใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สดใหม่ ปลอดภัย เช่น ผักออแกนิก เพื่อสร้างความโดดเด่นให้ร้าน มีการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ให้เข้ากับเทรนด์การบริโภค เช่น เมนูสุขภาพ เมนูฟิวชั่น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม
ด้านสถานที่และการบริการ ต้องมีการสร้างบรรยากาศร้านให้น่าสนใจมีความแตกต่างเพื่อสร้างการจดจำและดึงดูดลูกค้า รวมถึงการใส่ใจบริการเพื่อให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาใช้บริการซ้ำ สถานที่ต้องมีความสวยงามเพื่อให้ลูกค้าถ่ายภาพและนำไปโพสต์หรือแชร์ลงในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านไปในตัว
นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญต่อการ สร้างแบรนด์ ให้ร้านเป็นที่จดจำและไม่เหมือนใคร ซึ่งจะช่วยให้ร้านอาหารประสบความสำเร็จและยืนหยัดอยู่ในวงการร้านอาหารได้ยาวนานขึ้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามองว่า ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยยังมีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจประกอบธุรกิจเข้ามาทำการตลาด รวมถึงอาจขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เนื่องจากอาหารไทยมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครจึงยากที่จะเลียนแบบ ประกอบกับคนไทยมีศักยภาพในการประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยจะเห็นได้ว่ามีร้านอาหารไทยตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ เกือบทุกประเทศในโลก และได้รับความนิยมจากประชากรของประเทศนั้นๆ เป็นอย่างมาก ร้านอาหารไทยจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจที่สามารถสร้างความเติบโต
ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินถึง ธุรกิจร้านอาหารในไทย พบว่า มีการแข่งขันสูงที่สูงมาก แม้จะมีการเปิดตัวธุรกิจร้านอาหารมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่การแข่งขันที่สูง ก็ทำให้ร้านอาหารปิดตัวมากขึ้นเช่นกัน
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้เห็นว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 การจดทะเบียนยกเลิกธุรกิจ ธุรกิจร้านอาหารมีการเลิกกิจการมากสุดในอันดับที่ 4 โดยปิดกิจการเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566
ส่วนการเปิดกิจการใหม่ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ก็อยู่ในอันดับ 4 ลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
ด้าน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินภารวมของธุรกิจร้านอาหารในปี 2567 ว่ายังสามารถเติบโตแตะ 669,000 ล้านบาท โดยปัจจัยบวกมาจากการทำการตลาดที่ขยายกว้างขึ้นกว่าเดิมผ่านแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถขยายพื้นที่บริการโดยไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ (Physical Asset) และช่วยลดความจำเป็นในการเลือกทำเลที่ตั้งที่มีค่าเช่าพื้นที่สูง นอกจากนี้มาจากกระแสพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารตามการรีวิวของอินฟูลเอนเซอร์ (Influencer) ที่ส่งผลให้ร้านอาหารสร้างฐานลูกค้าใหม่ได้ในเวลาอันสั้น รวมถึงลดความสำคัญของการพึ่งพิงทำเลที่ตั้งที่ส่งผลต่อต้นทุนค่าเช่าที่สูง
ถ้าไปดูความท้าทายพบว่า ธุรกิจนี้ยังมีความท้าทาย 3 เรื่องใหญ่
1. กระแสที่มาเร็วแต่อาจจะหายไปเร็ว ส่งผลต่อการวางแผนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันกระแสต่าง ๆ ช่วยสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว (Viral Marketing) ส่งผลให้ธุรกิจอาจได้รับผลของความนิยมแบบชั่วคราวแต่อาจหายไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงข้อมูลที่ส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว ทำให้เทรนด์หรือกระแสที่จะคงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งถูกลดความนิยมไปได้ในระยะเวลาที่สั้นลงเมื่อมีเทรนด์ใหม่เข้ามาแทนที่
2. ภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากบทบาทของแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหารที่เป็นเสมือนช่องทางจำหน่ายอีกช่องทางหนึ่ง มีการขยายพื้นที่บริการที่ทับซ้อนกันมากขึ้น รวมถึงธุรกิจร้านอาหารที่เป็นกิจการที่ไม่มีข้อจำกัดในการเข้ามาทำธุรกิจของรายใหม่ โดยในปี 2567 ราคาอาหารมีการปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนกำไร ย่อมดึงดูดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
3. ทำเลศักยภาพในการประกอบการที่แต่เดิมกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ เริ่มมีแนวโน้มกระจุกตัวเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทำเลเดิมที่เคยมีศักยภาพถูกลดทอนลงอย่างรวดเร็วและอาจกระทบต่อยอดขายโดยเฉพาะในส่วนของยอดขายหน้าร้าน
ข่าวแนะนำ