TNN ไทยลุยเจรจากัมพูชาเร่งขุดก๊าซฯ พื้นที่ทับซ้อนมาใช้

TNN

เศรษฐกิจ

ไทยลุยเจรจากัมพูชาเร่งขุดก๊าซฯ พื้นที่ทับซ้อนมาใช้

ในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา ที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ มีการพูดถึงเรื่องนี้มานานกว่า 50 ปี ล่าสุดรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ประกาศเดินหน้าการเจรจา ในปีนี้เห็นภาพในการเจรจาว่าอาจจะมีความคืบหน้ามากขึ้น

รัฐบาลชุดนี้ มีการกำหนดเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทยกับพูชา ไว้ในนโยบาย ที่แถลงต่อสภาฯ โดยระบุว่า จะมีการสำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และจะมีการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน 

เรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 44 ที่สปป.ลาวเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้  ว่าไทยจะเร่งการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ให้ประเทศไทย และเรื่องนี้ถือเป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 

ด้านเพ็ญ โบนา โฆษกรัฐบาลกัมพูชา กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า กัมพูชายังคงยืนกรานที่จะหารือประเด็นนี้กับไทย หากรัฐบาลใหม่ของไทยพร้อม ทางกับพูชาก็ยินดีที่จะเจรจาต่อไป

 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ไทย-กัมพูชา ตกลงร่วมกันเมื่อต้นปี 2567 ว่าจะหารือกันถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อน  แต่การเจรจาอาจไม่ง่าย เพราะเรื่องนี้ถือว่าอ่อนไหว โดยการเจรจาหยุดชะงักตั้งแต่ปี 2544 เมื่อทั้งสองประเทศตกลงกันว่าจะต้องหารือถึงการอ้างสิทธิ์ในดินแดน พร้อมๆ กับการพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน โดยคนไทยบางกลุ่มมองว่าควรต้องเร่งเจรจา เพื่อ หาแหล่งสำรองพลังงาน เพื่อป้อนการผลิตให้กับอุตสาหกรรมไฟฟ้า   โดยมองว่าสามารถเริ่มการสำรวจได้ตั้งแต่ตอนนี้ และแก้ไขปัญหาดินแดนในภายหลัง

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก  รายงานว่า พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรัฐสภาเมื่อเดือนที่แล้วว่า เราไม่จำเป็นต้องแก้ไขความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเขตแดน เราเพียงแค่ต้องพูดคุยกันอย่างเป็นเพื่อนบ้านและพยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคด้วย

 พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวมีขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร  ซึ่งคาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบ 300 ล้านบาร์เรล

ก่อนหน้านี้ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน  ระบุว่า มีทรัพยากรมูลค่าอย่างน้อย 10 ล้านล้านบาท ในพื้นที่ดังกล่าว 

ก๊าซธรรมชาติสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศไทยได้ร้อยละ 60 โดยการผลิตภายในประเทศไทยคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการดังกล่าว และด้วยอัตราการการใช้ก๊าซฯ ของไทยในปัจจุบัน ไทยอาจไม่มีก๊าซเพียงพอในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

 นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของประเทศไทยในการตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยกำลังเป็นศูนย์กลางด้านยานยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ทำให้ต้องการใช้ก๊าซฯ เพื่อมาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น 

คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียม ระบุว่า หากไม่ดำเนินการใดๆ ไทยจะต้องนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LNG เพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการผลิตไฟฟ้า โดยคาดว่าถ้าสามารถนำก๊าซฯ ในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ได้ จะทำให้ไทยมีสำรองก๊าซฯ เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 20 ปี

จากสถิติในปี 2566 พบว่าไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 4,200-4,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน “ โดยพบว่าร้อยละร้อยละ  33 ของการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมดเป็นการนำเข้าในรูปแบบ LNG ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีการใช้ LNG แค่เพียง ร้อยละ 5 เท่านั้น”

ปัจจุบันมีการสร้างคลังเก็บก๊าซฯ เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ไว้รวมประมาณ 27 ล้านตัน หรือเท่ากับ 3,780 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน   หรือมีสัดส่วนร้อยละ 87 ของความต้องการใช้ในไทย “ดังนั้นการปล่อยให้มีการนำเข้า LNG เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชนให้แพงขึ้น” ซึ่งปัจจุบันประชาชนก็ยังเป็นหนี้ค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกือบ 1 แสนล้านบาทแล้ว  และแม้ว่า ราคา LNG โลกจะถูกลงแล้ว แต่ไทยก็ไม่ได้ประโยชน์จากราคาที่ถูกลงมากนัก โดย LNG ที่นำเข้าก็ยังไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อเพิ่มมูลค่าได้เหมือนการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 

ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียม มองว่า พื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา เป็นแหล่งที่มีโอกาสสำรวจพบก๊าซธรรมชาติได้สูง เมื่อค้นพบแล้วก็สามารถเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซธรรมชาติของเครือ ปตท. ที่อยู่ห่างแหล่งพื้นที่ทับซ้อนเพียง 50-100 กิโลเมตรเท่านั้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาวางท่อเพียง 4-5 เดือนก็แล้วเสร็จ แต่การนำมาใช้คงต้องขึ้นอยู่กับการการเจรจา คาดว่าอาจต้องใช้เวลา หากบรรลุข้อตกลงกับกัมพูชาได้ ก็ต้องใช้เวลาอีก 5 ปีกว่าจะนำก๊าซฯ ขึ้นมาใช้ได้รวมเวลาทั้งหมดน่าจะไม่ต่ำกว่า 8 ปี

 ปัจจุบันไทยมีท่อก๊าซ 3 เส้น รองรับก๊าซฯ ได้ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบันในอ่าวไทยผลิตได้ไม่ถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้นหากมีก๊าซธรรมชาติที่มาจากพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ก็จะทำให้เกิดการใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเต็มศักยภาพและค่าผ่านท่อก็จะถูกลงด้วย โดยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย มีราคาเฉลี่ยที่ถูกกว่า  LNG ที่นำเข้าด้วย คาดว่าก๊าซฯ ในพื้นที่ทับซ้อนราคาไม่แพงกว่าที่นำเข้าเช่นกัน

ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียม  ระบุว่า รัฐบาลไทยควรต้องเร่งเดินหน้าเจรจา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเสนอตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิค หรือ Thai-Cambodia joint technical committee (JTC) ขึ้นมา โดยให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ช่วย รวมถึงต้องมีฝ่ายทหาร สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพเรือ เพื่อช่วยดูแลในมิติเรื่องแผนที่ในทะเล รวมถึงมีผู้แทนกระทรวงกลาโหม มาร่วมด้วย ถ้าจากสามารถมีกาตั้งคณะกรรมการได้ตามนี้ จะทำให้การเจรจาทำได้ครบทุกมิติมากขึ้น 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง