TNN หมดยุคน้ำมันแพงไทยตรึงดีเซล 33 บาท

TNN

เศรษฐกิจ

หมดยุคน้ำมันแพงไทยตรึงดีเซล 33 บาท

มีการประเมินว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มเข้าสู่วัฏจักรขาลง แม้ความต้องการพลังงานมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้พลังงานจากไฟฟ้า ส่วนน้ำมันพบว่ามีการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก พาไปดูว่าส่งผลดีต่อผู้ใช้น้ำมันในไทยหรือไม่

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ออกรายงานล่าสุดโดยคาดการณ์ว่า “โลกกำลังเข้าสู่ยุคราคาน้ำมันขาลง” เนื่องจากทั่วโลกให้ความสำคัญกับพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลง

IEA คาดการณ์ว่า ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกจะหยุดเติบโตในทศวรรษ ซึ่งจะสวนการกำลังผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

นายฟาตีห์ บิรอล (Fatih Birol) กรรมการบริหาร IEA  ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า โลกกำลังจะเข้าสู่บริบทของตลาดพลังงานใหม่ เนื่องจากปริมาณการซื้อขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกำลังลดลง หากไม่มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ จะเข้าสู่ช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันจะตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนในปี 2565 ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง แต่ในปีนี้ ราคาน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 20 จากระดับสูงสุดกว่า 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แม้ว่าจะมีความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็ตาม

ถ้าไปดูการใช้ไฟฟ้า พบว่า  “การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่าของความต้องการพลังงานทั้งหมดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา” ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจีนที่มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายว่าปริมาณรถอีวีมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั่วโลกภายในปี 2573 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 ในปัจจุบัน

กรรมการ IEA  ระบุว่า ในประวัติศาสตร์พลังงาน เราได้พบเห็นยุคถ่านหินและยุคน้ำมัน และตอนนี้กำลังก้าวเข้าสู่ยุคไฟฟ้าซึ่งเป็นการก้าวสู่ยุคไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการน้ำมันและก๊าซจะถึงจุดอิ่มตัว แม้ว่าจะยังมีการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ๆ ของ สหรัฐอเมริกา บราซิล แคนาดา และกายอานา รวมถึงยังมีโครงการก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ แอลเอ็นจี อีกหลายโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น “ทำให้ขณะนี้มีกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้จะมีความพยายามลดกำลังการผลิตหลายครั้งของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส (OPEC+)  แล้วก็ตาม ซึ่ง IEA คาดว่ากำลังผลิตน้ำมันส่วนเกินจะสูงถึง 8 ล้านบาร์เรลภายในปี 2573

ส่วนในเรื่องราคาน้ำมันดิบ IEA   ประเมินว่า “ราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือปีนี้ยังคงเฉลี่ยที่ 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล”

 พาไปย้อนดูว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก มีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลราคาน้ำมันดิบในตลาดเวสต์เท็กซัส (WTI) ของสหรัฐฯ   ซึ่งบันทึกไว้โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ  (EIA)  ระบุว่า 

เมื่อปี 2523  ช่วงอิรักบุกอิหร่าน ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 116 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ต่อมาในปี 2529  ราคาน้ำมันลดต่ำสุดอยู่ที่ 25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ในปี 2533 เกิดเหตุอิรักบุกคูเวต ราคาน้ำมันปรับขึ้นมาอยู่ที่ 64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในไทยจนลุกลามไปทั่วโลก ราคาน้ำมันลดลงมาเหลือที่ 37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ที่น่าจับตาหลังวิกฤตต้มย้ำกุ้งในปี 2541 ได้เห็นราคาน้ำมันตกต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 16  เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

อีก 10 ปีต่อมาในปี 2551เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ แต่ราคาน้ำมันพุ่งไปอยู่ที่ 145 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

พอมาใน ปี 2557 ลดเหลือ  57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ช่วงปี  2565 เกิดเหตุรัสเซียบุกยูเครน  ราคาน้ำมันกระโดดไปอยู่ที่ 123 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะได้เห็น 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ในปี 2566 เกิดวิกฤตแบงก์ล้มในสหรัฐ ราคาน้ำมันลดลงมาเหลือ 66 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ในปีนี้ เกิดเหตุการสู้รบอิราเอล-อิหร่าน เมื่อช่วงเดือนเม.ย.ราคาน้ำมันอยู่ที่86 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ล่าสุดในเดือน ต.ค.2567 ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวระหว่า  65-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ถ้าดูจากสถิติย้อนหลังช่วง 40 ปีราคาน้ำมันเคลื่อนไหวที่สวิงมาก มีการปรับขึ้นสูงสุด และปรับลงจนต่ำสุดในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปก และส่วนหนึ่งเกิดจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ การสู้รบในประเทศที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน จึงจะมีผลกระทบต่อราคาค่อนข้างมาก 

 ในปีนี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมัน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มติดต่อกันมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังต่ำกว่าในปีที่ผ่านมา

“เมื่อปี 2566 อุปสงค์หรือความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 2.3 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ในปีนี้ IEA คาดการณ์ว่า อุปสงค์หรือความต้องการน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2567 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มกว่า 1 แสนบาร์เรล/วัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ 

นอกจากนี้ IEA ยังได้ปรับลดคาดการณ์อุปทานน้ำมันในปี 2567 โดยคาดว่าอุปทานจะเพิ่มขึ้นเพียง 800,000 บาร์เรล/วัน “สู่ระดับ 102.9 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2567 ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 103.8 ล้านบาร์เรล/วัน” หลังจากที่โอเปกพลัส ขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม

 ส่วนราคาพลังงานในไทย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงาน ได้จัดเตรียมแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการทำให้ราคาพลังงานมีต้นทุนถูกลง “ราคาน้ำมันดีเซลที่จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ก็มีแนวโน้มที่จะตรึงราคาต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ส่วนค่าไฟฟ้า ก็จะพยายามตรึงไว้เท่าเดิม เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน” 

 การตรึงราคาพลังงานของไทยต้องแลกด้วยภาระหนี้กว่า 2 แสนล้าบาทแบ่งเป็น หนี้ของกองทุนน้ำมันกว่า 1 แสนล้านบาทและหนี้ตรึงค่าไฟกว่า 1 แสนล้านบาท 

มีข่าวดีว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับลดลงสามารถเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินรวมกันถึง 300 ล้านบาทต่อวัน ส่งผลให้สถานะกองทุนติดลบน้อยลง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ต้องเริ่มทยอยคืนหนี้งวดแรก และมีกำหนดชำระคืนหนี้ทั้งหมดภายใน 3 ปี ทำให้ 3 ปีนับจากนี้ราคาน้ำมันของไทยอาจไม่สามารถปรับลดลงได้เท่ากับราคาตลาดโลก เพราะต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งมาใช้หนี้คืน 

เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าต้องมีการทยอยคืนเงินให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ดังนั้นแม้ว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะลดลงจากราคาน้ำมันลดลง แต่ค่าไฟของไทยอาจไม่สามารถลดได้เท่ากับต้นทุน เพราะยังมีภาระหนี้ต้องจ่ายคืนเหมือนกับน้ำมัน

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง