TNN BRICS เพิ่มบทบาท อาเซียนตัวแปรสำคัญ

TNN

เศรษฐกิจ

BRICS เพิ่มบทบาท อาเซียนตัวแปรสำคัญ

BRICS เพิ่มบทบาท อาเซียนตัวแปรสำคัญ

จับตาประชุม BRICS เพิ่มบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณสร้างระเบียบโลกใหม่แทนมหาอำนาจตะวันตก ยุติ “ดอลลาร์” ครองโลก ขณะ “อาเซียน” จะเป็นตัวแปรสำคัญ

เมืองคาซานของรัสเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มบริกส์ (BRICS) ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม โดยมีผู้แทนจาก 36 ประเทศเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งใหญ่สุดที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ในเชิงสัญลักษณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ารัสเซียยังไม่ถูกโดดเดี่ยวเต็มรูปแบบอย่างที่มหาอำนาจตะวันตกต้องการ และล่าสุดกลุ่ม BRICS เพิ่ม 13 ประเทศเป็นพันธมิตรใหม่อย่างเป็นทางการ รวมไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม


วาระสำคัญที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย พยายามผลักดันในการประชุมครั้งนี้ คือ การสร้างระเบียบโลกใหม่ (new world order) ที่ฟังเสียงประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เพื่อแทนที่ระเบียบโลกเก่าภายใต้การนำของชาติตะวันตกที่มีบทบาทอย่างมากในสถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), ธนาคารโลก (World Bank), กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 แห่ง (G7) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมถึงต้องการปลดแอกจากการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐในการเป็นสกุลเงินหลักสำหรับทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยผลักดันแนวคิดสร้างระบบรับส่งข้อความทางการเงินระหว่างประเทศคล้ายกับ “สวิฟต์” (SWIFT) ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก รวมถึงใช้สกุลเงินดิจิทัลของประเทศต่าง ๆ ในการสนับสนุนการลงทุน เพื่อยุติการครอบงำของดอลลาร์สหรัฐ


กลุ่ม BRICS ก่อตั้งเมื่อปี 2552 เริ่มจาก 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย จีน และอินเดีย ก่อนที่แอฟริกาใต้จะเข้าร่วมในปีต่อมา และ BRICS ก็มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกมาตลอดนับจากนั้น จนกระทั่งปี 2566 BRICS เริ่มประกาศรับสมาชิกใหม่ภายใต้กลไก “บริกส์ พลัส” (BRICS Plus) โดยเชิญ 6 ประเทศเข้าร่วมเพิ่มเติม ซึ่งอียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ตกลงเข้าร่วมกลุ่มแล้ว ส่วนซาอุดีอาระเบียตอบรับที่จะเข้าร่วม แต่ชะลอกระบวนการเข้าร่วมอย่างเป็นทางการออกไป ขณะที่อาร์เจนตินาตอบปฏิเสธ เพราะมีแนวทางสนับสนุนชาติตะวันตก  ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS อาศัยการตัดสินใจตามฉันทามติและไม่ใช่รูปแบบทางการ เนื่องจากไม่มีการกำหนดกฎบัตร ไม่มีตำแหน่งเลขาธิการ หรือการตั้งกองทุนร่วมกันในการดำเนินการ


การเพิ่มสมาชิกทำให้พลังของกลุ่ม BRICS เพิ่มขึ้น กรณีของอียิปต์และเอธิโอเปียช่วยเพิ่มเสียงของภูมิภาคแอฟริกาให้ดังขึ้น อียิปต์ยังเป็นคู่ค้าสำคัญของทั้งจีนและอินเดีย รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย อียิปต์เข้าร่วมกลุ่มเพราะต้องการดึงดูดการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนเอธิโอเปียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของแอฟริกาซับซาฮารา และจีนผูกมิตรด้วยการลงทุนเพื่อสนับสนุนความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt And Road Initiative-BRI) // กรณีของซาอุดีอาระเบีย UAE และอิหร่าน นับเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในตะวันออกกลาง รวมทั้งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ 


นอกจาก 9 ประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เต็มตัว ยังมีอีก 34 ประเทศที่รอคิวอยู่ อย่างไรก็ตาม จีนและรัสเซียสนับสนุนให้เปิดรับสมาชิกเพิ่ม แต่บราซิลและอินเดียยังคงกังวลเกี่ยวกับบทบาทที่อาจลดทอนลง โดยเฉพาะอินเดียที่กำลังแข่งขันกับจีนมากขึ้น ไม่ต้องการให้กลุ่มที่ใหญ่ขึ้นอยู่ในวงโคจรของจีน ขณะเดียวกัน การเพิ่มจำนวนสมาชิกก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ ๆ จากจุดยืนที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ


การขยายกลุ่ม BRICS ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นมาพร้อมกับผลกระทบด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลากหลายมิติ เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 ของ GDP โลก ตามการประเมินของธนาคารโลกเมื่อปี 2566 ซึ่งจีนมีสัดส่วนมากสุดที่ร้อยละ 17 ของ GDP โลก ตามด้วยอินเดียที่ร้อยละ 3 ส่วนรัสเซียและบราซิลอยู่ที่ร้อยละ 2 เท่ากัน และซาอุดีอาระเบีย ร้อยละ 1 เทียบกับสหรัฐฯ ที่มี GDP คิดเป็นร้อยละ 26 ของทั้งโลก และยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 17


ในแง่ประชากร กลุ่ม BRICS รวมกันคิดเป็นร้อยละ 46 ของประชากรทั้งโลก ทั้งจีนและอินเดียมีสัดส่วนราวร้อยละ 18 ของทั้งโลก ส่วนสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 4 และยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 6  สำหรับการส่งออก กลุ่ม BRICS มีสัดส่วนร้อยละ 19 ของทั้งโลก เฉพาะจีนมีสัดส่วนร้อยละ 11 ขณะที่สหรัฐฯ มีสัดส่วนร้อยละ 10 และยุโรปมีสัดส่วนร้อยละ 31 ของการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก


นอกจากนี้ กลุ่ม BRICS ยังมีบทบาทอย่างมากต่อการสู้รบในตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงรูปแบบของระบบเศรษฐกิจโลก การแข่งขันระหว่างจีนกับชาติตะวันตก และความพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด


รายงานของสภาทองคำโลก (WGC) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า สมาชิกดั้งเดิมของกลุ่ม BRICS ทั้ง 5 ประเทศ ถือครองทองคำสำรองรวมกันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของทั้งโลก ซึ่งสะท้อนถึงอำนาจทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงิน โอกาสในการลงทุน และอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้ โดย “รัสเซีย” ถือครองทองคำมากสุดในกลุ่ม และติดอันดับ 5 ของทั้งโลก นับถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ รัสเซียถือครองทองคำ 2,336 ตัน หรือร้อยละ 8.05 ของทั้งโลก ตามด้วย “จีน” ถือครองทองคำ 2,264 ตัน หรือร้อยละ 7.8 ของทั้งโลก อยู่ในอันดับ 2 ของกลุ่ม BRICS และอันดับ 6 ของโลก ลำพังรัสเซียและจีนครองส่วนแบ่งรวมกันร้อยละ 74 ของทองคำสำรองทั้งหมดที่ประเทศ BRICS ถือครองอยู่


สำหรับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม BRICS ก็ถือครองทองคำสำรองจำนวนมากเช่นกัน อย่าง “อินเดีย” ถือครองอยู่ 841 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของทั้งโลก ส่วน “ซาอุดีอาระเบีย” ถือครองทองคำ 323 ตัน คิดเป็นร้อยละ 1.11 ของทั้งโลก, “บราซิล” ถือครอง 130 ตัน, “อียิปต์” 127 ตัน, “แอฟริกาใต้” 125 ตัน และ UAE ถือครองราว 75 ตัน 


การที่กลุ่ม BRICS ยังคงขยายบทบาท และเสาะหารูปแบบเศรษฐกิจใหม่ ๆ ดังนั้น แนวทางในการสำรองทองคำและการนำสกุลเงินใหม่มาใช้ในกลุ่มจึงอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบการเงินโลก


ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม BRICS เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนระอุ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังดำเนินต่อไป นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้นทั่วโลก และความไม่แน่นอนจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ หาก “โดนัลด์ ทรัมป์” คว้าชัยศึกครั้งนี้ ก็จะนำไปสู่การใช้มาตรการภาษีอย่างแข็งกร้าวที่จะกระทบการค้าโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ 


ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้ BRICS กลายเป็นทางเลือกของประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่ชาติตะวันตกมองข้าม เมื่อเดือนกรกฎาคม “มาเลเซีย” ได้ยื่นสมัครเข้าร่วมกลุ่ม BRICS แล้ว เช่นเดียวกับ “ไทย” และ “เวียดนาม” ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่แสดงความสนใจในทำนองเดียวกัน 


โดยในส่วนของไทย กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ให้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มประเทศ BRICS ครั้งล่าสุด ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม BRICS หลังจากที่ไทยได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศย้ำว่า ไทยไม่ได้มองการเข้าร่วม BRICS เป็นการกระทำเพื่อเลือกข้าง หรือถ่วงดุลกับกลุ่มอื่น ๆ 


สื่อต่างประเทศบางสำนักระบุว่า ทั้งมาเลเซียและไทยพิจารณาถึงโอกาสด้านการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น สำหรับมาเลเซีย BRICS จะช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตได้เร็วขึ้น เพราะบูรณาการกับประเทศที่มีตลาดดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ส่วนไทยสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น บริการ การผลิต และเกษตรกรรม


ในอีกมุมหนึ่ง “เอเชีย ไทม์ส” วิเคราะห์ว่า การมีส่วนร่วมของอาเซียนอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2564 สหรัฐฯ พยายามสกัดอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน รวมถึงความพยายามแทนที่ดอลลาร์สหรัฐ 


ขณะเดียวกัน แนวคิดของ BRICS ที่สนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรม รวมถึงการใช้เงินสกุลใหม่ร่วมกัน กำลังสะท้อนแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าดอลลาร์สหรัฐจะยังคงมีความสำคัญ แต่จะไม่ได้มีอิทธิพลมหาศาลเหมือนเมื่อก่อน ขณะที่สกุลเงินอื่น ๆ เช่น หยวนของจีน ยูโร และเยนของญี่ปุ่น จะมีบทบาทมากขึ้น


แต่การจะลดทอนอำนาจของดอลลาร์ในการเป็นสกุลเงินหลักสำหรับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลา ยิ่งการจะสร้างสกุลเงินที่ใช้ร่วมกันก็ทำได้ยาก เพราะจะต้องใช้การประนีประนอมทางการเมืองครั้งใหญ่ และยังไม่ชัดเจนว่าสกุลเงินใหม่ดังกล่าวจะมีเสถียรภาพและน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะใช้อย่างกว้างขวางหรือไม่ ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐยังคงใช้ในการค้าโลกมากกว่าร้อยละ 80 


ความท้าทายอีกเรื่องของ BRICS คือ การเพิ่มจำนวนสมาชิก เพราะจะนำไปสู่ความตึงเครียดภายในกลุ่ม และการแข่งขันระหว่างสมาชิกที่เพิ่มขึ้น อย่างกรณีของจีนและอินเดียที่ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นจากข้อพิพาทเรื่องพรมแดนที่ดำเนินมาหลายสิบปี รวมถึงการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ทำให้เกิดรอยร้าวมากขึ้น เนื่องจากจุดยืนที่แตกต่างกัน 


แม้การผงาดของ BRICS พลัส จะไม่ง่ายดาย แต่นี่เป็นสัญญาณเตือนถึงสหรัฐฯ และรัฐบาลชาติตะวันตกอื่น ๆ ที่เพิกเฉยต่อความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาและประชาชนที่ต้องการให้เสียงของพวกเขาดังขึ้น และมีทางเลือกใหม่ ๆ



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง