TNN เชื่อได้ไหม! ตลาดออนไลน์ หรือ กลลวง l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

เชื่อได้ไหม! ตลาดออนไลน์ หรือ กลลวง l การตลาดเงินล้าน

การตลาดแบบออนไลน์ ถูกนำไปเป็นเครื่องมือหลอกลวง หรือฉ้อโกงกันมากขึ้น ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญในปัจจุบันหรือไม่

ศาสตราจารย์ วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็น กรรมการ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย บอกว่า เครื่องมือทางการตลาดแบบออนไลน์ หรือการใช้สื่อเพื่อทำการตลาดแบบออนไลน์ผ่านโซเชียล มีเดีย ไม่ใช่ตัวปัญหา แต่ปัญหา คือการทำธุรกิจที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เพราะสมัยก่อนที่ยังไม่มีสื่อออนไลน์ ก็มีการใช้วิธีการ ผ่านเครือข่ายขายตรง และผ่านบุคคลในการชักจูง ตลอดจนการทำสื่ออื่น ๆ ออกมาอยู่ดี เพียงแต่ปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และทุกคนสามารถผลิตสื่อออกมาได้ โดยไม่มีการกลั่นกรอง ยิ่งทำให้การฉ้อโกง รวมถึงธุรกิจแชร์ลูกโซ่ สามารถเข้าถึงคนในวงกว้างได้มากขึ้น 

อย่างไรก็ดี จากข่าวดังที่เกิดขึ้น อาจารย์วิทวัส บอกว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการตลาดแบบออนไลน์ และการใช้สื่อออนไลน์ และเชื่อว่า ยังเป็นช่องทางสำคัญในการทำการตลาดในปัจจุบัน เพียงแต่ต้องรู้เท่ากันให้มากขึ้น

มีข้อเสนอแนะจากอาจารย์วิทวัส ด้วยบอกว่า การจะสร้างความเข้มแข็งเพื่อเป็นเกราะป้องกันการถูกหลอกลวง สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ควรออก แนวปฏิบัติ หรือจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการควบคุมกันเอง และ มีการสื่อสารออกไปในวงกว้าง โดยประสานกับสื่อ เพื่อทำการเฝ้าระวังหรือยกเป็นกรณีศึกษาหากมีประเด็น ล่อแหลม หรือ อาจส่อไปในทางทุจริต

ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างความเข้มแข็ง ของสื่อ และสื่อสังคมออนไลน์ภาคประชาชน ผ่านความร่วมมือกันมากขึ้น

และสุดท้าย ก็คือ การพัฒนาคน ให้มีความฉลาดเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ และแนวทางการทุจริต ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการให้ความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะต่าง ๆ จากกรณีศึกษาในอดีต หรือสอดแทรกเข้าไปในหลักสูตรระดับมัธยม และมหาวิทยาลัย แล้วขยายมาสู่กันให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป


เชื่อได้ไหม! ตลาดออนไลน์ หรือ กลลวง l การตลาดเงินล้าน

โดย 5 ลักษณะที่เข้าข่ายหรือสุ่มเสี่ยงการหลอกลวง ที่หากเจอแล้วควรต้องหลีกเลี่ยง ได้แก

1. การโฆษณาเกินจริง ซึ่งพบบ่อย โดยอวดอ้างสรรพคุณ เช่นจดทะเบียนเป็นอาหารเสริม แต่โฆษณาสรรพคุณในลักษณะที่เป็นยา 

2. การหลอกลูกค้า เพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง โดยไม่แจ้งอย่างตรงไปตรง เช่น หลอกให้เข้ามาเป็นสมาชิก หรือ สมัคร โดยมีผลประโยชน์ เช่น มีของรางวัลเข้ามาล่อ โดยอาจไม่ให้จริง หรือมีเงื่อนไขจุกจิกในภายหลัง

3. หลอกด้วยการปลอมแปลงตัวตน หรืออ้างตัวตนของบุคคลอื่น หรืออาจหลอกบุคคลอื่นที่มีชื่อเสียง ให้มาเป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ สินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ในการเข้าถึงคนจำนวนมาก รวมถึงหลอกยืมเงินหรือหลอกชวนลงทุน

4. ทำการตลาด ที่มุ่งเน้นเป้าหมาย ไปยังกลุ่มที่มีวิจารณญาณในการตัดสินใจต่ำกว่าคนปกติ เช่น กลุ่มเด็ก หรือผู้สูงอายุ ด้วยกันเสนอขายสินค้าบริการ และสื่อสารมุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวโดยเฉพาะ

และสุดท้าย ข้อ 5. คือนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้านำไปใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือหลอกให้ลูกค้าอนุญาต

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง