"เอกนัฏ" ลงพื้นที่ ขับเคลื่อน SMEs ภาคใต้สู่ความยั่งยืนด้วย BCG
"เอกนัฏ" ล่องใต้ ลงพื้นที่สุราษฎร์ฯ มอบนโยบาย ปฏิรูปอุตสาหกรรม สั่งการ “ดีพร้อม” ดึงลงทุนต่างชาติ ขับเคลื่อน SMEs ภาคใต้สู่ความยั่งยืนด้วย BCG
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หลังลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อมอบนโยบายและรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ 7 จังหวัด (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราช) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาคเอกชน และมอบนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น เน้นพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืน ชี้โอกาสการลงทุนจากความได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผังเมืองและมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจท้องถิ่นและการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เวทีโลก
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 เพื่อมอบนโยบายและรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่”เร่งการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย” โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ “การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจและสงคราม โดยประเทศไทยมีข้อได้เปรียบอย่างมากด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในช่วงเวลาที่หลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โลก กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางชัดเจนในการใช้ข้อได้เปรียบเหล่านี้เพื่อสร้างโอกาสให้กับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประชุมดังกล่าวตัวแทนภาคเอกชนได้นำเสนอประเด็นปัญหาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี อาทิ ปัญหาผังเมือง การขับเคลื่อน Climate Change แผนจัดการแรงงานที่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในพื้นที่ รวมถึงกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีจุดแข็งจากการเกษตรและการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พร้อมมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของพื้นที่ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่น โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผ่านการส่งเสริมการสร้างเครือข่าย การพัฒนาองค์ความรู้ และการฝึกอบรม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัว พัฒนาธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่าง และแผนการจัดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ คพอ.ดีพร้อม ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2568 ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงพลัง และศักยภาพของผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป
“หนึ่งในนโยบายสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ คือ การปฏิรูปและพัฒนาธุรกิจ SMEs ให้มีความยั่งยืน พร้อมมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการ การส่งเสริมการให้ SMEs ของไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในระดับสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงฯ มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ การใช้โมเดล BCG ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหนึ่งในแนวทางหลักในการยกระดับศักยภาพการผลิตของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ธุรกิจ SMEs ของเราสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน" นายเอกนัฏ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เสนอจัดตั้ง กองทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่าน โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การหมุนเวียนวัตถุดิบ และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและแปรรูป ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมนี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรและขยายตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแผนการขยายผลโมเดล BCG สู่ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่มุ่งเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนในระยะยาว ถือเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นและ SMEs ของไทย เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในยุคปัจจุบันและอนาคต และเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่เน้นความยั่งยืนและนวัตกรรมอย่างแท้จริง นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวแนะนำ