ดีอี เห็นชอบแนวทางระบบคลาวด์ภาครัฐ ขับเคลื่อนสู่ "รัฐบาลดิจิทัล"
ดีอี เห็นชอบข้อเสนอกรอบแนวทางการบริหารจัดการระบบคลาวด์ภาครัฐ ตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก มุ่งขับเคลื่อนสู่การเป็น ‘รัฐบาลดิจิทัล” เพื่อการบริการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ครั้งที่ 2/2567 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอกรอบแนวทางการบริหารจัดการระบบคลาวด์ภาครัฐ ตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก พร้อมมอบหมายคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างบริการคลาวด์ภาครัฐ และ คณะอนุกรรมการด้านบริหารจัดการความต้องการใช้บริการคลาวด์ (Demand) การให้บริการคลาวด์ (Supply) และมาตรฐานการบริหารจัดการการบริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Management) ไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเป็นกรอบแนวทางสำหรับหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งมอบหมายสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. ร่วมกันจัดทำรายละเอียดข้อเสนอกรอบนโยบายการจำแนกประเภทข้อมูล เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลพิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป "ขอขอบคุณคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) รวมทั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการบริการคลาวด์ภาครัฐ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนสู่การเป็น ‘รัฐบาลดิจิทัล” เพื่อให้การบริการของภาครัฐ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนได้อย่างตรงจุด ขณะเดียวกันภาคธุรกิจหลายแห่งให้ความสำคัญ และเริ่มลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนระบบคลาวด์ และ Data Center อาทิ บริษัท Google ที่ได้ประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทยราว 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ยังมีบริษัทหลายแห่งที่มีฐานการลงทุนภายในประเทศไทย ริเริ่มการขยายโครงสร้างพื้นฐานในการลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงทำให้เห็นถึงโอกาสที่ระบบคลาวด์ประเทศไทยจะเจริญเติบโตขึ้นในอนาคต" นายประเสริฐฯ กล่าว นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการกำหนดทิศทางการให้บริการระบบคลาวด์ เพื่อสร้างให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคต่อไป นอกจากนี้ ในด้านมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงของข้อมูลในระบบนั้น จำเป็นต้องศึกษากฎหมายและระเบียบมาตรฐานของต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อให้มีความรัดกุมต่อการเข้าถึงข้อมูลในระบบคลาวด์ของประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอแนวทางกำหนดประเภทของข้อมูลที่ห้ามทำสำเนาออกนอกประเทศ ถือเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดกรอบทิศทางของระบบคลาวด์ในอนาคตให้มีความเหมาะสมและพร้อมต่อการใช้งาน สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานและเงื่อนไขทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่อไป
ข่าวแนะนำ