ใครได้-ใครเสีย ทรัมป์ VS แฮร์ริสนั่ง ปธน.สหรัฐฯ
ส่องผลกระทบภาคธุรกิจจากศึกชิงทำเนียบขาว ใครได้-ใครเสีย หาก “ทรัมป์” หรือ “แฮร์ริส” คว้าเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ จับตา “ทรัมป์” จ่อผลักหนี้สาธารณะพุ่งสูงกว่าคู่แข่งกว่าเท่าตัว พร้อมฉุด GDP จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม และยุโรป
เหลือเวลาเพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็จะเกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่สูสีอย่างมากระหว่างอดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้แทนจากพรรครีพับลิกัน และรองประธานาธิบดี “คามาลา แฮร์ริส” ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ซึ่งนับถึงขณะนี้ทั้ง 2 คนยังมีคะแนนนิยมใกล้เคียงกันมากใน 7 รัฐสมรภูมิชี้ขาด (swing state) และต่างก็เร่งหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย
โพลล่าสุดที่จัดทำโดย “NBC นิวส์” เมื่อวันที่ 4-8 ตุลาคม โดยสอบถามความเห็นชาวอเมริกัน 1,000 คน พบว่า ทั้ง “ทรัมป์” และ “แฮร์ริส” มีคะแนนนิยมเท่ากันอยู่ที่ร้อยละ 48 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 4 ยังไม่ได้ตัดสินใจหรือไม่ลงคะแนนให้ใครใน 2 คนนี้ ซึ่งผลสำรวจครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อเดือนกันยายนที่ “แฮร์ริส” มีคะแนนนำ “ทรัมป์” อยู่ที่ร้อยละ 49 ต่อร้อยละ 44 อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลโพลล่าสุด เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งร้อยละ 10 ระบุว่า อาจเปลี่ยนใจและยังมีผู้ที่ยังไม่แน่ใจ
เช่นเดียวกับโพลสำรวจของ “วอลล์สตรีต เจอร์นัล” (WSJ) เมื่อไม่กี่วันก่อน ที่สอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,200 คน ใน 7 รัฐสมรภูมิชี้ขาด พบว่า “ทรัมป์” ได้รับการสนับสนุนร้อยละ 46 ส่วน “แฮร์ริส” ได้รับความนิยมร้อยละ 45 ซึ่งในทุกรัฐมีคะแนนสูสีกันมาก โดย “ทรัมป์” มีคะแนนนำเพียงเล็กน้อยในรัฐเนวาดา นอร์ทแคโรไลนา และเพนซิลเวเนีย ด้าน “แฮร์ริส” นำอยู่เล็กน้อยในรัฐแอริโซนา มิชิแกน วิสคอนซิน และจอร์เจีย
ทั้งชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลกต่างก็จับตาศึกชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้ เพราะแนวนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง เว็บไซต์ CNBC นำเสนอผลกระทบของแนวทางของผู้สมัครทั้ง 2 ที่มีต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งสายการบิน ธนาคาร รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เฮลท์แคร์ สื่อ ร้านอาหารและเทคโนโลยี ซึ่งในช่วงที่ “ทรัมป์” ดำรงตำแหน่งสมัยแรก เขาปรับลดภาษีนิติบุคคล จัดเก็บภาษีสินค้าจีน รวมทั้งลดกฎระเบียบและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และต่อต้านผู้อพยพ นโยบายเหล่านี้น่าจะได้เห็นหากเขาชนะเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วน “แฮร์ริส” สนับสนุนการขึ้นภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 28 และมีแนวโน้มจะสานต่อนโยบายภายใต้ยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน
เริ่มจากอุตสาหกรรมสายการบิน ผลการเลือกตั้งจะกระทบในหลายมิติ ตั้งแต่การจ่ายเงินชดเชยให้ผู้บริโภคกรณีเที่ยวบินหยุดชะงักไปจนถึงต้นทุนการสร้างเครื่องบินในสหรัฐฯ โดยรัฐบาลยุค “ไบเดน” ใช้แนวทางที่แข็งกร้าวเพื่อปกป้องผู้โดยสาร รวมทั้งสกัดแผนซื้อกิจการบางส่วน เนื่องจากสายการบิน 4 แห่งควบคุมตลาดสหรัฐฯ ไปแล้วกว่า 3 ใน 4 แต่ในยุค “ทรัมป์” ไม่ได้มีมาตรการปกป้องผู้บริโภค และมีแนวโน้มเอื้อต่อการควบรวมกิจการมากกว่า อย่างไรก็ตาม การที่ “ทรัมป์” สนับสนุนการขึ้นภาษีสินค้าจากจีน ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการผลิตเครื่องบินและส่วนประกอบอื่น ๆ สูงขึ้น และอาจเผชิญการตอบโต้จากจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องบินรายใหญ่ของ “โบอิ้ง”
ด้านอุตสาหกรรมธนาคารที่เผชิญกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นภายใต้การบริหารของเดโมแครต อาทิ การลดค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตและการเบิกเงินเกินบัญชี ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร หาก “ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะส่งคนเข้าไปคุมหน่วยงานสำคัญ ๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสถาบันคุ้มครองเงินฝากแห่งสหรัฐฯ (FDIC) อาจทำให้กฎระเบียบต่าง ๆ คลี่คลายลงหรือถูกยกเลิก แต่ “ทรัมป์” เวอร์ชั่น 2.0 อาจต่างกับสมัยแรก เพราะ “เจ.ดี. แวนซ์” คู่หูชิงรองประธานาธิบดีของเขามักวิพากษ์วิจารณ์ภาคธนาคาร และ “ทรัมป์” ก็เสนออัตราดอกเบี้ยสำหรับบัตรเครดิต สูงสุดที่ร้อยละ 10 จากปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 20 ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน
สำหรับอุตสาหกรรม EV ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีจุดยืนอยู่คนละขั้ว รัฐที่พึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง “มิชิแกน” และเป็นหนึ่งใน 7 รัฐชี้ขาดการเลือกตั้ง กำลังเผชิญความไม่แน่นอน เพราะพรรคเดโมแครต รวมถึง “แฮร์ริส” เคยสนับสนุนรถ EV และมีมาตรการจูงใจภายใต้กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อของรัฐบาลไบเดน แต่ “ทรัมป์” ไม่สนับสนุนรถ EV เพราะจะทำลายอุตสาหกรรมยานยนต์แบบดั้งเดิมของสหรัฐฯ และอาจยกเลิกมาตรฐานการปล่อยไอเสียที่ส่งเสริมการใช้รถ EV
อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ ทั้ง “ทรัมป์” และ “แฮร์ริส” ต่างก็เรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลงด้านนี้ที่มีต้นทุนสูง มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องในวงกว้างทั้งบุคลากรการแพทย์ บริษัทประกัน ผู้ผลิตยาและพ่อค้าคนกลาง โดยแต่ละปีสหรัฐฯ มีรายจ่ายด้านนี้มากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ทั้งที่ใช้จ่ายมากกว่าประเทศร่ำรวยอื่น ๆ แต่สหรัฐฯ กลับมีอายุขัยเฉลี่ยต่ำสุด มีอัตราการเกิดโรคเรื้อรังสูงสุด รวมถึงอัตราการเสียชีวิตของมารดาและทารก ชาวอเมริกันจำนวนมากเป็นหนี้หรือต้องเลื่อนการรักษาที่จำเป็นออกไป ทั้ง “ทรัมป์” และ “แฮร์ริส” พยายามลดราคาขายยาตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งสูงกว่าในประเทศอื่น ๆ เกือบ 3 เท่า ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายด้านสุขภาพบางรายมองว่า ความพยายามของ “ทรัมป์” ส่วนใหญ่เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวหรือไม่ได้ผลในทันที ขณะที่ “แฮร์ริส” สามารถต่อยอดจากรัฐบาลไบเดนได้ และมีแผนที่ชัดเจนกว่า
อุตสาหกรรมสื่อกำลังเผชิญความท้าทาย เนื่องจากจำนวนผู้ชมทีวีดั้งเดิมลดลง เม็ดเงินโฆษณาชะลอตัว การสตรีมมิงเพิ่มขึ้น และความสามารถการทำกำไร ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับตัวเข้าสู่การซื้อและควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอด อย่างกรณี “สกายแดนซ์ มีเดีย” กับ “พาราเมาต์ โกลบอล” ประกาศข้อตกลงควบรวมกิจการมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ แต่รัฐบาลยุค “ไบเดน” ชะลอแผนดังกล่าวออกไป แต่กรณี “แอมะซอน” ซื้อ MGM กลับผ่าน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าชัยชนะของใครจะส่งผลอย่างไร เพราะยุคทรัมป์สมัยแรกก็อนุมัติบางกรณีและคัดค้านในบางกรณี และประเด็นที่น่าจับตา คือ กรณีของ TikTok ที่รัฐบาลไบเดนกดดันให้ขายธุรกิจในสหรัฐฯ แต่ “ทรัมป์” ที่เคยต่อต้านกลับลำมาสนับสนุน TikTok เพื่อให้คานอำนาจกับโซเชียลมีเดียรายใหญ่อย่าง “เฟซบุ๊ก”
อุตสาหกรรมร้านอาหาร คู่ชิงประธานาธิบดีทั้ง 2 คนต่างก็สนับสนุนแผนยกเลิกเก็บภาษีทิปสำหรับพนักงานบริการ แต่มีวิธีการที่แตกต่างกัน โดยอุตสาหกรรมบริการอาหารและร้านอาหารเป็นนายจ้างเอกชนรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ มีพนักงานราว 15.5 ล้านตำแหน่ง ตามข้อมูลของสมาคมร้านอาหารแห่งสหรัฐฯ ซึ่งเกือบ 2.2 ล้านคนเป็นพนักงานเสิร์ฟและบาร์เทนเดอร์ที่ได้รับทิป คนกลุ่มนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นหากเงินทิปที่ได้รับไม่ถูกเก็บภาษี ทีมหาเสียงของ “ทรัมป์” ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการยกเลิกภาษีเงินทิป ส่วน “แฮร์ริส” จะยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินทิปเฉพาะพนักงานที่มีรายได้ไม่เกิน 75,000 ดอลลาร์เท่านั้น แต่เงินดังกล่าวยังต้องเสียภาษีสำหรับประกันสังคมและประกันสุขภาพ
ส่วนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีก็จะต้องเผชิญกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนารวดเร็ว นับตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (generative AI) กลายเป็นประเด็นใหญ่หลังการเปิดตัวแชตบอตอัจฉริยะ ChatGPT ที่พัฒนาโดย OpenAI เมื่อปลายปี 2565 แม้จะมีประโยชน์ แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่ง “แฮร์ริส” ยังมีจุดยืนสนับสนุนการออกคำสั่งบริหารของ “ไบเดน” ในการควบคุมความปลอดภัยของ AI แต่ “ทรัมป์” แสดงท่าทีจะยกเลิกคำสั่งดังกล่าว
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Committee for a Responsible Federal Budget-CRFB) เพิ่งเผยแพร่รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเมินว่า นโยบายของทั้ง “ทรัมป์” และ “แฮร์ริส” จะมีส่วนทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่สูงอยู่แล้ว โดยการประเมินในระดับกลาง นโยบายเศรษฐกิจของ “ทรัมป์” มีแนวโน้มจะเพิ่มหนี้สาธารณะราว 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในทศวรรษข้างหน้า และนโยบายของ “แฮร์ริส” จะเพิ่มหนี้ต่ำกว่า อยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์
รายงานดังกล่าวระบุว่า การประมาณการหนี้ที่เพิ่มขึ้นมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากขาดรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับแคมเปญหาเสียงของทั้ง 2 พรรค ซึ่งกรณีของ “ทรัมป์” แนวโน้มหนี้ที่เพิ่มขึ้นบนสมมตฐานต่ำสุดไปจนถึงสูงสุดอยู่ที่ระหว่าง 1.45-15.15 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนกรณีของ “แฮร์ริส” อยู่ที่ระหว่าง 0-8.1 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมกับเตือนว่า หากรัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะก็จะนำไปสู่วิกฤตทางการในที่สุด
ก่อนหน้านี้ สำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรส (Congressional Budget Office-CBO) ประเมินว่า ในปี 2567 หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 99 ของ GDP และมีแนวโน้มจะแตะ 51 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2577 คิดเป็นร้อยละ 122 ของ GDP เนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นจากประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพ “เมดิแคร์” ประกอบกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นแซงหน้ารายได้จากภาษี ซึ่งหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากเมื่อปี 2555 ที่อยู่ที่ 11.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราวร้อยละ 69.5 ของ GDP
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ เนื่องจากนโยบายการค้าและมาตรการภาษีต่าง ๆ “ฟิทช์ เรตติงส์” บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ประเมินว่า หาก “ทรัมป์” คว้าชัยชนะเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อาจจะกระทบต่อ GDP ของเขตเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิกบางแห่ง โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ และเวียดนาม
ภายใต้สถานการณ์เลวร้ายสุด GDP ที่แท้จริง (real GDP) หรือ GDP ที่หักเงินเฟ้อ ของทั้ง 3 ประเทศในปี 2571 อาจต่ำกว่าที่ “ฟิทช์” คาดการณ์ไว้ในปัจจุบันราวร้อยละ 1 หรือมากกว่านั้น หากสหรัฐฯ ใช้นโยบายกีดกันการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าที่รุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศและบริษัทที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ
ทั้งนี้ “ทรัมป์” ยังคงยึดนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) โดยมีแผนจะเก็บภาษีร้อยละ 10-20 สำหรับการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากทุกประเทศ และจะกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 60 หรือมากกว่านั้น
ในส่วนยุโรป ผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ หาก “แฮร์ริส” ชนะ น่าจะส่งผลกระทบน้อยกว่า “ทรัมป์” ที่มีความเสี่ยงมากกว่าจากนโยบายการค้าและการระงับจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ เพราะหากสหรัฐฯ ก่อให้เกิดสงครามการค้าโลก ยุโรปก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ โดยผลิตภาพของยุโรปครึ่งหนึ่งมาจากการค้า ซึ่งมากกว่าในสหรัฐฯ ถึง 2 เท่า และมีส่วนต่อการจ้างงานในภาคการผลิต 30 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับ 13 ล้านตำแหน่งในสหรัฐฯ หมายความว่าภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงสูงจากข้อจำกัดทางการค้า ขณะเดียวกัน หาก “ทรัมป์ 2.0” ยุติการสนับสนุนยูเครน รัฐบาลยุโรปจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านนี้แทน ซึ่งเป็นภาระเพิ่มขึ้นสำหรับชาติสมาชิกที่มีหนี้อยู่ในระดับสูง
นักเศรษฐศาสตร์ของ “โกลด์แมน แซคส์” ประเมินว่า หาก “ทรัมป์” เดินหน้าเก็บภาษีนำเข้า ผลกระทบโดยตรงจากภาษีนำเข้าบวกกับความไม่แน่นอนทางการค้าที่จะเกิดขึ้นตามมา อาจทำให้ GDP ของประเทศสมาชิกยูโรโซน หรือ 20 เขตเศรษฐกิจที่ใช้เงินสกุลยูโร ลดลงราวร้อยละ 1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับเบาบางที่ร้อยละ 0.8
ข่าวแนะนำ