TNN "Cybercab" อีลอน มัสก์ ถูกวิจารณ์ยับ l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

"Cybercab" อีลอน มัสก์ ถูกวิจารณ์ยับ l การตลาดเงินล้าน

การเปิดตัว Cybercab แท็กซี่ไร้คนขับ (Robotaxi) ของ อีลอน มัสก์ ถูกวิจารณ์ไปในทางลบอย่างหนัก เพราะ ขาดรายละเอียดของความเป็นไปได้จริงในหลาย ๆ เรื่อง

Cybercab คือยานยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบ ของ อีลอน มัสก์ ซีอีโอ เทสลา ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไป เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นรถยนต์สองที่นั่ง สีเงิน แบบเตี้ย ที่ไม่มีทั้งพวงมาลัย และแป้นเหยียบ มีดีไซน์ล้ำสมัย ทั้งส่วนโค้ง และเส้นสายของรถ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรถรุ่นต่าง ๆ ของเทสลา แต่ ส่วนหน้าของ ไซเบอร์ แค็บ นั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ไซเบอร์ ทรัก (Cybertruck) อย่างชัดเจน

ส่วนความแตกต่างของ ไซเบอร์ แค็บ จากรถยนต์ไฟฟ้าอื่น ๆ คือ ไม่มีช่องเสียบปลั๊ก สำหรับชาร์จไฟฟ้า แต่จะชาร์จไฟโดยการขับผ่านแผ่นชาร์จ ซึ่งเทสลา ได้พัฒนาการชาร์จแบบเหนี่ยวนำไร้สายมาระยะหนึ่งแล้ว 

มีคาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตได้ก่อนปี 2027 หรือภายใน 3 ปีข้างหน้า และแม้ว่าจะเป็น โรโบแท็กซี่ (หรือ แท็กซี่ไร้คนขับ) แต่ผู้บริโภคจะสามารถซื้อได้ ในราคาต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท

ภายในงานเปิดตัว โรโบแท็กซี่ มัสก์ บอกด้วยว่า ภายในปีหน้า เทสลา จะมีระบบ Full Self-Driving หรือระบบขับเคลื่อนโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในการดูแล(ควบคุม)ของมนุษย์ ซึ่งจะพร้อมใช้งานในแท็กซัส และแคลิฟอร์เนีย สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โมเดล 3 และ โมเดล Y จากปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวของ เทสลา ยังต้องมีคนขับที่พร้อมจะบังคับพวงมาลัย หรือเหยียบเบรกได้ทุกเมื่อ

รวมถึงสร้างความประหลาดใจ ด้วยการเผยโฉม โรโบแวน (Robovan) รถตู้ไฟฟ้าไร้คนขับ ที่สามารถบรรทุกคนได้ถึง 20 คน หรือใช้ขนส่งสินค้าได้ อีกด้วย 

อย่างไรก็ดี การเปิดตัวดังกล่าว ไม่ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ลงทุนที่คาดหวัง และรอคอยมานาน ทำให้ วันต่อมา ราคาหุ้น เทสลา ปรับลดลงถึงร้อยละ 9 ขณะเดียวกัน กระแสวิจารณ์ถึงงานดังกล่าว เป็นไปทางลบ มากกว่าคำชม

นักวิเคราะห์จาก บาร์คเลย์ (Barclays) กล่าวกับ ซีเอ็นบีซี บอกว่า งานดังกล่าว ไม่ได้เน้นย้ำถึงโอกาสใด ๆ ในระยะใกล้ของ เทสลา เลย แต่กลับให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ของมัสก์ เกี่ยวกับอนาคตของการขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบแทน ซึ่งก็เหมือนกับการเปิดตัวโพรดักส์อื่น ๆ ของ เทสลา ก่อนหน้านี้ ที่ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากนัก มีแต่จะเน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ที่สนับสนุนความพยายามในการเติบโตของเทสลา ในด้าน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ ยานยนต์ไร้คนขับ(AV)

จึงดูเหมือน ไม่มีความคืบหน้าอะไร เกี่ยวกับระบบ ฟูล เซลฟ์ ไดร้ฟวิ่ง (FSD) หรือข้อมูลใด ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาระบบดังกล่าว

ส่วนนักวิเคราะห์จาก มอร์แกน สแตนเลย์ (Morgan Stanley) กล่าวว่า จากงานดังกล่าว ไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่า เทสลา เป็นบริษัท AI เพราะไม่มีการให้รายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับการปรับปรุงระบบ FSD หรือพูดอะไรเกี่ยวกับการผูกขาดระหว่าง เทสลา และ xAI ซึ่งเป็นบริษัทปัญญาประดิษฐ์ของ มัสก์ โดยรวมแล้ว รู้สึกผิดหวังในหลายเรื่อง เช่น การขาดข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของระบบ FSD หรือ เทคโนโลยี ตลอดจนธุรกิจแชร์รถ และกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาด

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ เทสลา จะต้องใช้เวลานานอีกหลายปี กว่าจะมีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติบนท้องถนน และหน่วยงานกำกับดูแลจะต้องเข้ามาพิจารณาถึงข้อกังวลต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและความปลอดภัยที่ฝังอยู่ในรถยนต์เหล่านี้

ด้าน พอลล์ มิลเลอร์ นักวิเคราะห์จาก ฟอร์เรสเตอร์ กล่าวว่า ไซเบอร์ แค็บ ในราคา 30,000 ดอลลาร์ จะยังไม่มาในเร็ว ๆ นี้แน่ เพราะเป็นเรื่องยากมากสำหรับ เทสลา ที่จะเสนอรถยนต์ใหม่ในราคาดังกล่าว ภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และแม้ว่า ในที่สุดแล้ว การประหยัดต่อขนาด จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนลงได้ เหลือใกล้ ๆ กับ 30,000 ดอลลาร์ แต่หากไม่มีการอุดหนุนใด ๆ จากภายนอก หรือ เทสลา จะยอมขาดทุน ภายในทศวรรษนี้ ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะเปิดในราคาดังกล่าว

ด้าน ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เทสลา จะขายบริการแท็กซี่ไร้คนขับในกองยานของตนเอง  โดยเป็นคู่แข่งกับทั้งบริการของ อูเบอร์(Uber) และ ลิฟต์ (Lyft) ที่ใช้คนขับ และ บริการไร้คนขับของเจ้าอื่นที่กำลังทดสอบการให้บริการอยู่ อย่างเช่น เวย์โม (Waymo) ของ กูเกิล (Google) 

ซึ่ง คาร่า สวิสเชอร์ (Kara Swisher) นักข่าวสายเทคโนโลยี และผู้ร่วมรายการของ ซีเอ็นเอ็น กล่าวว่า ตนเองใช้บริการของ เวย์โม ทุกครั้งที่ไปซานฟรานซิสโก และใช้บริการมานานแล้ว แต่สำหรับ อีลอน มัสก์ เพิ่งจะพูดถึงเรื่องนี้ แม้ตัวเองจะตื่นเต้นมากเกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับ แต่สำหรับ มัสก์ มีแต่สัญญา ขณะที่เจ้าอื่นเขาทำแล้ว

ขณะที่ รอยเตอร์ส รายงานว่า โรโบแท็กซี่ ของเทสลา กำลังทำให้บรรดานักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างก็รู้สึกสับสน เพราะมีการออกแบบที่ตรงกันข้ามกับของรถแท็กซี่ทั่วไป ที่มีที่นั่งสำหรับผู้โดยสารหลายคนได้ พร้อมกับสัมภาระ ซึ่งไม่แน่ใจว่า มัสก์ ละเลยความคาดหวังที่ว่า แท็กซี่ไร้คนขับจะสามารถตอบสนองความต้องการของครอบครัว ที่ต้องการเดินทางไปยังร้านอาหาร หรือสนามบิน หรือต้องการแค่ว่า แท็กซี่เหล่านี้จะสามารถดึงดูดลูกค้าได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

โจนาธาน เอลฟาลัน (Jonathan Elfalan) ผู้อำนวยการฝ่ายทดสอบรถยนต์ของเว็บไซต์ยานยนต์ เอ็ดมันส์ ดอท คอม กล่าวว่า เมื่อคุณนึกถึงแท็กซี่ คุณจะนึกถึงสิ่งที่จะบรรทุกได้มากกว่า 2 คน เพราะรถแท็กซี่ไร้คนขับจะเลียนแบบแท็กซี่ทั่วไปได้ดีที่สุด ก็ตรงที่มีพื้นที่กว้างขวาง และสูง รวมถึงมีประตูบานเลือน แต่ก็ งง ว่าทำไม ไซเบอร์ แค็บ ถึงเป็นรถแค่ 2 ที่นั่ง

ส่วน แซนดีป ราโอ (Sandeep Rao) นักวิจัยอาวุโส ของ เลเวอเรจ แชร์ (Leverage Shares) บอกว่า สำหรับแท็กซี่ไร้คนขับ 2 ประตู คาดว่าจะมีตลาดที่ค่อนข้างจำกัด 

รอยเตอร์ส รายงานอีกว่า ในการให้บริการ มัสก์ ต้องการให้แท็กซี่ไร้คนขับมีราคาถูกกว่าระบบขนส่งมวลชน และคาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ ไซเบอร์ แค็บ จะอยู่ที่ 20 เซ็นต์ต่อไมล์ แต่ไม่ได้บอกว่า เทสลา จะสามารถผลิตรถยนต์ไร้คนคับ ได้จำนวนมากเมื่อไหร่ และจะได้รับการอนุัมติจากหน่วยงานกำกับดูแลได้เร็วเพียงใด หรือจะเอาชนะ เวย์โม ของ อัลฟาเบต ที่ให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับในบางเมืองของสหรัฐฯ อยู่แล้ว ได้อย่างไร

ซึ่ง เวย์โม มีรถ จากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ (Jaguar Land Rover) ประมาณ 700 คันที่รองรับผู้โดยสารได้ 4 คน เท่ากับความจุที่นั่งในแท็กซี่ไร้คนขับของ ซูกซ์ (Zoox) ของ แอมะซอน (Amazon) ด้วย

โดย จอห์น คราฟซิก อดีตซีอีโอ ของ เวย์โม กล่าวว่า การออกแบบของ เทสลา ดู สนุกสนานมากกว่าจริงจัง ซึ่งการกำหนดค่าแบบสองประตู ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้โดยสารผู้สูงอายุ และผู้พิการ จริง ๆ 

สำหรับสถานการณ์ตลาดแท็กซี่ไร้คนขับในปัจจุบัน มีทั้งบริษัทฯ ที่ประสบปัญหา ถูกระงับการใช้งาน ส่วนที่ยังดำเนินการต่อ ก็กำลังขยายตลาด 

โดย ครูซ (Cruise) เป็นโรโบแท็กซี่ ในเครือของ เจเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) สถานะปัจจุบัน คือถูกระงับการใช้งานในซานฟรานซิสโก หลังจากมีคนเดินถนนได้รับบาดเจ็บจากรถดังกล่าว ซึ่ง ครูซ ได้รับใบอนุญาตให้บริการเชิงพาณิชย์ในเมือง ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2022

ขณะที่ เวย์โม ยังคงได้รับอนุญาตให้ทดสอบบริการแท็กซี่ไร้คนขับบนถนนในซานฟรานซิสโกได้ปกติ และเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เวย์โม ยังได้เพิ่ม ไอออนนิค 5 ของ ฮุนได เข้าในกองยานแท็กซี่ไร้คนขับของบริษัทฯ หลังจากผ่านการทดสอบบนท้องถนนด้วยเทคโนโลยีของบริษัทฯ

ส่วนยักษ์ใหญ่ด้านบริการเรียกรถ อย่าง อูเบอร์ ยังต้องการเพิ่มรถยนต์ไร้คนขับเข้ากองยานของตนเพื่อขยายทางเลือกในการจัดส่งและเรียกรถร่วมกัน สำหรับลูกค้า ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ ครูซ เป็นระยะเวลาหลายปี

ทางฝั่งจีน ไป่ตู้ (Baidu) บริษัทเทคโนโลยีของจีน และเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับรายใหญ่ของจีน มีแผนที่จะขยายแผนกแท็กซี่ไร้คนขับ อพอลโล โก (Apollo Go) ไปต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทหลายแห่ง โดยไป่ตู้ รายงานว่า ปัจจุบัน อพอลโล โก ให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับไปแล้วมากกว่า 7 ล้านเที่ยว ซึ่งเป็นข้อมูลจนถึงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง