TNN "ยูนิโคล่" กำไรพุ่ง 3 ปีซ้อน พร้อมเดินเกมบุกตลาดโลก l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

"ยูนิโคล่" กำไรพุ่ง 3 ปีซ้อน พร้อมเดินเกมบุกตลาดโลก l การตลาดเงินล้าน

UNIQLO ประกาศผลประกอบเติบโตเป็นประวัติการณ์ เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และยังเดินหน้าเพื่อไปสู่เป้าหมายท้าทายด้วยการขยายออกสู่ตลาดโลกต่อเนื่อง

บริษัทฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นจากญี่ปุ่น แบรนด์ ยูนิโคล่ (UNIQLO) เผยถึงผลการดำเนินงานงวดปีบัญชี สิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2024 พบว่าบริษัทมีกำไรจากการดำเนินการเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 31 จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 500,900 ล้านเยน (หรือราว 3,350 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ)

เป็นการรายงานผลประกอบการสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่วนยอดขาย หรือรายได้ ทะลุหลัก 3 ล้านล้านเยน (หรือราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นครั้งแรก ถือเป็นความก้าวหน้ามากขึ้น หลังก่อนหน้านี้ คุณ ทาดาชิ ยานาอิ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ ประกาศเป้าหมายที่จะครองตลาดตะวันตก และมุ่งสู่บริษัทฯ ที่มียอดขายรายปีเกินกว่า 10 ล้านล้านเยน

ส่วนผลประกอบการที่เติบโต มาจากอัตรากำไร ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ จากการที่บรษัทฯ ดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การขยายสาขาในยังอเมริกาเหนือ และยุโรปมากขึ้นเห็นได้จาก ผลการดำเนินงานของ ยูนิโคล่ อินเตอร์เรชันแนล มีรายได้เติบโตถึง ร้อยละ 19.1 ส่วนกำไรจากการดำเนินงานเติบโตร้อยละ 24.9 


ยูนิโคล่ กำไรพุ่ง 3 ปีซ้อน พร้อมเดินเกมบุกตลาดโลก l การตลาดเงินล้าน

เมื่อแยกตามแต่ละภูมิภาค พบว่า ในจีนแผนดินใหญ่ มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 และกำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ที่ร้อยละ 0.5 ส่วน เกาหลีใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินเดีย และ ออสเตรเลีย รายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง ร้อยละ 20.2 และกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 โดยเฉพาะตลาดใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินเดีย และออสเตรเลีย พบว่าเติบโตมาจากยอดขายของกลุ่มผลิตภัณฑ์ ฮีตเทค (HEATTECH), แจ็คเก็ตขนแกะ, ชุดชั้นใน รวมถึงเสื้อคลุมกันแสงยูวี และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ 

ส่วนแถบอเมริกาเหนือ บริษัทดังกล่าว มีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.8 และกำไรเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 65.1 และ ยุโรป รายได้และกำไรก็เพิ่มขึ้นสูงเช่นกัน ที่ ร้อยละ 44.5 และร้อยละ 70.1 ตามลำดับ 

ด้าน รอยเตอร์ส รายงานว่า ผลประกอบการที่เติบโตขึ้น เป็นเพราะ ยูนิโคล่ ได้รับประโยชน์จากเงินเยนที่อ่อนค่า เป็นประวัติการณ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งในประเทศ การท่องเที่ยวที่เฟื่องฟู ทำให้การชอปปิงสินค้าปลอดภาษีเติบโตขึ้น รวมถึงรายได้จากการบุกตลาดตะวันตก ทั้งอเมริกา และยุโรป ก็ได้รับผลบวกจากการที่ เงินเยนที่อ่อนค่า 

ทั้งนี้บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง เป็น โฮลดิ้ง คอมพานี ที่มีแบรนด์อยู่ภายใต้การบริหาร รวม 8 แบรนด์ เช่น ยูนิโคล่ และ แบรนด์ จียู (GU) ที่คนไทยรู้จักกันดีอยู่แล้ว

คุณ ทาดาชิ ถือเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คนหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้ ยูนิโคล่ เป็นแบรนด์ผู้ค้าปลีกเครื่องแต่งกาย รายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนั่นหมายถึงว่าจะต้องแซงหน้าแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง ซาร่า และ เอช แอนด์ เอ็ม

ซึ่งเหตุการณ์แซงหน้า ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คือ เมื่อต้นปี 2021 ยูนิโคล่ โดย บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง มีมูลค่าตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ต แคป แซง บริษัท อินดิเท็กซ์ (Inditex) จากสเปน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ ซาร่า ไปได้ และกลายเป็นบริษัทเสื้อผ้าแฟชั่น ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก แต่เป็นช่วงที่โควิด ระบาด และตลาดมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ ยูนิโคล่ รักษาตำแหน่งไว้ได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น

จนปัจจุบัน จากการสำรวจข้อมูลล่าสุด พบว่า บริษัท อินดิเท็กซ์ มีมูลค่าตามราคาตลาด อยู่ที่กว่า 179,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงครองอันดับ 1 ในกลุ่มฟาสต์ แฟชั่น ส่วนบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิง มีมูลค่า กว่า 106,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่า เอช แอนด์ เอ็ม (H&M) จากสวีเดน ที่มาร์เก็ตแคป ล่าสุด อยู่ที่ 26,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เป้าหมายของ ทาดาชิ ที่ต้องการเป็นผู้ค้าปลีกเครื่องแต่งกายรายใหญ่ที่สุดในโลก ก็ทำให้บริษัทฯ มุ่งขยายตลาดในต่างประเทศ แต่การขยายไปยังยุโรป และอเมริกา ในระยะแรก ไม่ประสบความสำเร็จนัก เช่น ที่สหราชอาณาจักร ยอดขายของแบรนด์ลดลง จนต้องปิดสาขาไปถึง 16 แห่ง จาก 21 แห่งภายในระยะ 2 ปี หลังจากเปิดร้านเมื่อปี 2001 ส่วนปี 2005 ร้าน ยูนิโคล่ เปิดตัวในในสหรัฐอเมริกาถึง 3 สาขา และเพียง 1 ปีเท่านั้น ก็ต้องปิดตัว

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้ ทาดาชิ ล้มเลิกความตั้งใจ โดยให้สัมภาษณ์กับ เดอะ สเตรทส์ ไทม์ส์ ว่า เป็นเพราะการขยายสาขาเร็วเกินไป โดยไม่เข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริง จากนั้น ในช่วงทศวรรษ 2010 การกลับไปขยายสาขาในประเทศแถบตะวันตกในครั้งที่ 2 ผลลัพธ์ที่ออกมา กลับเป็นตรงกันข้าม

ซึ่งได้พูดถึงการเรียนรู้จากความล้มเหลวในครั้งแรก และเหตุผลที่ประสบความสำเร็จในครั้งที่ 2 โดยบอกว่า ครั้งแรก เกิดจากพยายามตอบสนองความต้องการของทุกประเทศ มากเกินไป แต่ในครั้งใหม่ ตระหนักได้ว่าทุกประเทศ ควรได้รับโอกาสในการสัมผัสประสบการณ์ของ ยูนิโคล่ แท้ ๆ จากญี่ปุ่น ซึ่งไม่ควรไปปรับแต่งผลิตภัณฑ์ตามกระแสของตลาดมากเกินไป แต่ควรนำเสนอตัวเองในแบบที่เราเป็น

จากมุมมองดังกล่าว สะท้อนออกมาถึงแนวคิดของแบรนด์ เกี่ยวกับแนวปรัชญาที่เรียกว่า ไลฟ์ แวร์ (LifeWear) ของ ยูนิโคล่ ซึ่งสื่อความหมายถึง เสื้อผ้าที่เรียบง่าย ธรรมดา แต่มีคุณภาพ และเหมาะกับการใช้งาน โดยคำนึงถึงความต้องการในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ยังมาพร้อมกับนวัตกรรม เช่น ฮีตเทค (HeatTech), ยูวี คัต (UV Cut) และ แอร์ริสึม (AIRism) เป็นต้น 

จากเป้าหมายทะเยอทะยานของแบรนด์ ทำให้ปัจจุบัน ยูนิโคล่ ยังคงเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต โดยเมื่อ กลางเดือนกันยายน ยูนิโคล่ มีสาขาทั่วโลกรวมกันแล้วมากกว่า 2,500 แห่ง มีการตั้งเป้าภายในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ว่าจะเปิดร้านค้าหลัก อีกมากกว่า 20 แห่ง ในยุโรป อเมริกาเหนือ และ เอเชีย

ในยุโรป ยูนิโคล่ จะเปิดร้านค้าในเมืองใหม่ ๆ และทำเลทองในเขตเมืองใหญ่ เพื่อเสริมสร้างแบรนด์ ไลฟ์แวร์ (LifeWear) โดยจะเปิดร้านค้าใหม่ทั้งหมดอีก 6 แห่ง รวมถึงสาขาที่สองในโคเปนเฮเกน ของเดนมาร์ก และอัมสเตอร์ดัม ในเนเธอร์แลนด์

ส่วนที่ อเมริกาเหนือ จะขยายการเปิดร้านค้าไปยังภูมิภาคใหม่ ๆ โดยร้านค้าแห่งแรกในรัฐเท็กซัสทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาจะเปิดในเดือนตุลาคมนี้ และมีแผนจะเปิดร้านค้าอีก 5 แห่งทั่วทั้งรัฐในฤดูใบไม้ร่วงนี้ด้วย รวมถึงในเมืองใหญ่ ๆ เช่น ฮูสตัน และดัลลาส นอกจากนี้ จะขยายเครือข่ายร้านค้าด้วยการเปิดร้านค้าใหม่ 6 แห่งในแคลิฟอร์เนียในปีนี้

ในเอเชีย จะเปิดร้านยูนิโคล่ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโซล ส่วนที่ประเทศไทย ร้านค้าริมถนนสไตล์ใหม่แห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น จะเปิดในกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นหน้าร้านแล้ว ร้านค้าริมถนนสไตล์ใหม่เหล่านี้ยังจะเป็นช่องทางให้ยูนิโคล่สื่อสารถึงคุณค่าของตนโดยตรงถึงลูกค้าผ่านทำเลที่ตั้ง การออกแบบ และบริการ นอกจากนี้ มีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มเติมที่อินเดียอีกด้วย

และที่ ญี่ปุ่น มีแผนจะเปิดร้านค้าหลัก 5 แห่ง รวมถึง ยูนิโคล่ ชินจูกุ ฮอนเทน (UNIQLO Shinjuku HONTEN) ในใจกลางชินจูกุ ในเขตเมือง โดยอาศัยการท่องเที่ยวขาเข้าและในเขตที่อยู่อาศัย รวมถึงมีแผนที่จะปรับปรุงเครือข่ายร้านค้าเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและทำให้การจับจ่ายซื้อของในบริเวณที่ใกล้กับที่ลูกค้าอาศัยอยู่ง่ายขึ้น

โดยเป้าหมายสาขา สำหรับงวดปีบัญชี 2025 บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง คาดการณ์ว่า จะมีเครือข่ายร้านค้าทั้งหมด 3,698 แห่ง ประกอบไปด้วยร้าน ยูนิโคล่ เจแปน จำนวน 797 ร้าน (รวมร้านแฟรนไชส์) ร้าน ยูนิโคล่ อินเตอร์เนชันแนล จำนวน 1,778 ร้าน ร้านค้า จียู (GU) จำนวน 489 ร้าน และร้านค้า โกลบอล แบรนด์ อีกจำนวน 634 ร้าน (รวมร้านแฟรนไชส์)

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง