TNN ศึกบะหมี่ซอง ตลาดโลกจ่อแตะ 2 ล้านล้านบาท l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ศึกบะหมี่ซอง ตลาดโลกจ่อแตะ 2 ล้านล้านบาท l การตลาดเงินล้าน

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เติบโตต่อเนื่องคาดว่าแตะ 2 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้บริโภคเอเชียเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต ส่วนแบรนด์และผู้ผลิตรายใหญ่สุด คือ Indomie อินโดนีเซีย

ข้อมูลจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก ประเมินว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา ทั่วโลกบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สะสมตลอดทั้งปี อยู่ที่ 120,210 ล้านหน่วยบริโภค ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (คือ ปี 2565) ที่มียอดการบริโภคสะสม จำนวน 121,200 ล้านหน่วย 

10 อันดับแรกของประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย และมีนอกเอเชีย เพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือ สหรัฐอเมริกา และไนจีเรีย 

อันดับที่ 1 จีนและฮ่องกง ซึ่งมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก ซึ่งปี 2566 อยู่ที่จำนวน 42,000 ล้านหน่วยบริโภค 

ตามมาด้วย อินโดนีเซีย มีจำนวน 14,500 ล้านหน่วย  อินเดีย 8,700 ล้านหน่วย เวียดนาม 8,100 ล้านหน่วย และ ญี่ปุ่นจำนวน 5,800 ล้านหน่วย ตามลำดับ

มาดูกันต่อที่อันดับ 6 ถึง 10 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 5,100 ล้านหน่วยบริโภค ฟิลิปปินส์ 4,390 ล้านหน่วย เกาหลีใต้ 4,040 ล้านหน่วย ส่วนประเทศไทย อยู่อันดับที่ 9 จำนวน 3,950 ล้านหน่วย ซึ่งบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย มียอดสะสมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่มีจำนวน 3,870 ล้านหน่วย และอันดับ 10 คือ ไนจีเรีย บริโภคสะสมของปีที่ผ่านมา อยู่ที่จำนวน 2,980 ล้านหน่วยบริโภค


ศึกบะหมี่ซอง ตลาดโลกจ่อแตะ 2 ล้านล้านบาท l การตลาดเงินล้าน


เมื่อเทียบการบริโภคต่อจำนวนประชากรในแต่ละประเทศ พบว่า เวียดนาม บริโภคต่อคนต่อปี จำนวนมากที่สุด อยู่ที่ 81 หน่วยบริโภค เทียบได้ว่า ใน ทุก ๆ 4 วัน ชาวเวียดนามจะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 หน่วย (หรือ 1 มื้ออาหาร) ส่วนอันดับ 2 (ใน 3 อันดับแรก) คือเกาหลีใต้ เฉลี่ย 78 หน่วย ต่อคนต่อปี และ อันดับ 3 ก็คือ ไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 56 หน่วยบริโภค ต่อคนต่อปี ส่วนประเทศจีน มีการบริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 30 หน่วย ต่อคนต่อปี

ขณะที่บริษัทวิจัยตลาด มอร์ดอร์ อินเทลลิเจนซ์ (Mordor Intelligence) คาดการณ์ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2567 มูลค่าตลาด จะอยู่ที่ 48,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1 ล้าน 6 แสน ล้านบาท และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2572 ตลาดจะมีมูลค่าถึง 61,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปี เฉลี่ยร้อยละ 4.68


ศึกบะหมี่ซอง ตลาดโลกจ่อแตะ 2 ล้านล้านบาท l การตลาดเงินล้าน


โดยตลาดได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป เนื่องจากความเร่งรีบในชีวิต ทำให้ต้องการอาหารพร้อมรับประทาน หรือใช้เวลาในการปรุงอาหารน้อยที่สุด เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เก็บไว้ได้นานและหาซื้อง่าย ทำให้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

ขณะที่ผู้ผลิตเองก็มีการพัฒนาด้านรสชาติและโภชนาการ เพื่อให้ตอบโจทย์ความชอบของผู้บริโภค และความหลากหลายของรสชาติ ยังช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดในระยะข้างหน้าอีกด้วย 

ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น คิดค้นโดยนักธุรกิจที่ชื่อว่า โมโมฟุกุ อันโด (Momofuku Ando) เมื่อปี พ.ศ. 2499 และต่อมาปี 2501 ก็ได้ก่อตั้งเป็นบริษัท นิชชิน ฟู้ดส์ (Nissin Foods) ขึ้นมา

จากนั้นปี 2514 อันโด ก็ได้เริ่มลองใช้แบบถ้วยโฟม ยิ่งส่งผลให้เกิดความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2564 เว็บไซต์ เอเชียฟู้ด เบเวอเรจ รายงานว่า อินโดหมี่ (Indomie) แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของ อินโด ฟู้ด (Indofood) จากอินโดนีเซีย ที่เจริญรอยตามนิสชินมานั้น เป็นแบรนด์และผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รายใหญ่ที่สุดในโลก และตามข้อมูลของ แบรนด์ ฟุตพริ้นต์ (Brand Footprint) รายงานว่า อินโดหมี่ เป็น คอนซูเมอร์ แบรนด์ (แบรนด์ผู้บริโภค) ที่ถูกเลือกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ของโลก

ซึ่งในเวลานั้น อินโดหมี่ มีการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 60 ประเทศทั่วโลก และยังมีโรงงานผลิตอยู่ที่ประเทศ ไนจีเรีย ที่มีการส่งออกไปยุโรปและประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา

สำหรับ แบรนด์ อินโดหมี่ เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2515 โดย ซาลิม กรุ๊ป (Salim Group) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย ได้เปิดตัวแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นมา และตั้งชื่อว่า อินโดหมี่ ซึ่งขณะนี้ มีเพียงรสชาติเดียว คือ รสไก่ และในช่วงเวลานั้นเอง ไม่มีใครคาดคิดว่า อินโดหมี่ จะประสบความสำเร็จได้ เพราะว่าชาวอินโดนีเซียบริโภคข้าวเป็นหลัก ไม่ใช่เส้นก๋วยเตี๋ยว แต่เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีราคาไม่แพง จึงทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น 

ต่อมาปี 2525 อินโดหมี่ เปิดตัวรสชาติใหม่ คือ หมี่ โกเรง (Mi Goreng) หรือบะหมี่ผัด จนได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสินค้าขายดีของประเทศอินโดนีเซียเอง โดย หมี่ โกเรง ยังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอาหารของประเทศ ไนจีเรีย อีกด้วย

จนปัจจุบัน อินโดหมี่ มีหลากหลายรสชาติมากขึ้น และเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากอินโดนีเซีย มีแรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำจำนวนหลายล้านคน ขณะที่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็อาหารที่พวกเขาสามารถจ่ายได้ และช่วงเกิดการระบาดใหญ่ของ โควิด 19 การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน และรับประทานง่ายในมื้อที่สะดวก 

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของ กันตาร์ แบรนด์ ฟุตพริ้นต์ (Kantar Brand Footprint) ปีล่าสุด ปี 2567 พบว่า อินโดหมี่ เป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และได้รับการยกย่องให้เป็นนแบรนด์ เอฟเอ็มซีจี (FMCG) ที่ได้รับเลือกมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ อินโดนีเซีย รวมถึงเป็นแบรนด์อาหารที่ได้รับเลือกมากที่สุดในอินโดนีเซีย อีกด้วย

ด้านผู้บริหารของ อินโดฟูด ซีบีพี (Indofood CBP) กล่าววว่า ปัจจุบัน อินโดหมี่ เป็นแบรนด์ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และมีโรงงานผลิตในต่างประเทศมากกว่า 20 แห่ง ทั้งในมาเลเซีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก ตลอดจน ผลิตภัณฑ์มีจำหน่ายในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทำให้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับ พีที อินโดฟูด ซีบีพี (PT Indofood CBP) เป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ผลิตภัณฑ์นม, ขนมขบเคี้ยว, เครื่องปรุงรส, อาหารเพื่อสุขภาพ, อาหารพิเศษ และเครื่องดื่ม มีแบรนด์ดังกว่า 30 แบรนด์ รวมถึงแบรนด์ อินโดหมี่ ด้วย 

กลับมาดูตลาดในประเทศไทยกันบ้าง ข้อมูลจาก ฝ่ายวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานว่า มูลค่าจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ของตลาดในประเทศ อยู่ที่กว่า 537 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวเลขของปี 2565 หรือคิดเป็นกว่า 17,900 ล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ ปัจจุบัน) 

โดยผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่สำคัญในไทย ประกอบด้วย สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (แบรนด์มาม่า)  โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย (แบรนด์ไวไว)  อายิโนะโมะโต๊ะ (แบรนด์ยำยำ) บริษัท นงชิม (แบรนด์นงชิม) และ นิสชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) (แบรนด์นิสชิน) ซึ่งผู้ผลิตกลุ่มนี้ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย

สำหรับปริมาณการบริโภคโดยรวม เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1.3 ต่อปี (ซึ่งเป็นข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2560-2565) ถือว่าขยายตัวได้ดีในภาวะที่กำลังซื้อซบเซา เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาถูก และใช้บริโภคทดแทนได้ในยามขาดแคลนอาหารสด อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาติที่หลากหลายและแปลกใหม่อย่างต่อเนื่อง


ศึกบะหมี่ซอง ตลาดโลกจ่อแตะ 2 ล้านล้านบาท l การตลาดเงินล้าน

ส่วนการจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 142,200 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.6 ของปริมาณจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยที่มีปริมาณเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วยจำนวน 3,870 ล้านหน่วยบริโภค และมีอัตราการบริโภค 54.0 หน่วย ต่อคนต่อปี อยู่อันดับ 3 ของโลกร่วมกับเนปาล รองจากเวียดนาม และเกาหลีใต้ 



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง