เหลื่อมล้ำ! คนไทยส่วนใหญ่กังวลใช้จ่าย l การตลาดเงินล้าน
LINE ประเทศไทย และ นีลเส็นไอคิว เผยพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภค ภาพรวมใช้จ่ายโตดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำทางการเงินยังมีอยู่
คุณรัฐธีร์ ฉัตรดำรงค์ศักดิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย บอกว่า ปัจจุบัน ประเทศไทย และภาคธุรกิจต่าง ๆ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก แม้ว่าปีนี้ (2567) มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตราร้อยละ 2.3 ถึงร้อยละ 2.6 ด้วยแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศที่แข็งแกร่ง แต่ก็เป็นอัตราการเติบโต ต่ำที่สุดในอาเซียน และเติบโต ต่ำกว่าทึ่คนไทยคาดหวังไว้ว่าน่าจะเติบโตได้มากกว่านี้
ส่วนปัจจัยลบ ต่าง ๆ ก็จะยังมีต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในอัตราสูงที่ร้อยละ 90 สถาบันการเงินกังวลต่อปัญหาหนี้เสีย และปล่อยสินเชื่อได้ยากขึ้น กระทบต่อธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึงกระทบต่อกำลังการใช้จ่ายของประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง เงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว น้ำท่วมภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น ธุรกิจไทยจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์และปรับตัวอย่างทันท่วงที
ปัจจุบันพบว่า แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มปรับกลยุทธ์กันแล้ว เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากการปรับกลยุทธ์ในการใช้งานบน ไลน์ ซึ่งสรุปได้ 4 กลยุทธ์ ดังนี้
กลยุทธ์แรก คือ การใช้ช่องทางโฆษณาแบบผสมผสาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณา
ถัดมา เป็นการใช้กลุ่มเป้าหมายใหม่ ในการยิงโฆษณา เพื่อขยายฐานผู้มีแนวโน้มสนใจสินค้าของแบรนด์ ให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น เช่น กลุ่มยานยนต์ ได้ลองขยายกลุ่มเป้าหมาย ไปยังผู้ที่สนใจเรื่องแต่งงาน ครอบครัว และเพลง เป็นต้น
กลยุทธ์ถัดมา คือการให้ความสนใจกับการเก็บข้อมูล ของแบรนด์เอง โดย ไลน์ จะมีเครื่องมือ ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ประโยชน์จาก ดาต้าให้กับแบรนด์
และสุดท้าย คือ การสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล ด้วยการนำดาต้ามาจำแนก แบ่งกลุ่มเป้าหมาย และนำเสนอคนเทนต์ให้ตรงกลุ่ม
คุณรัฐธีร์ บอกด้วยว่า กลยุทธ์เหล่านี้ น่าจะเป็นไอเดียที่แบรนด์สามารถนำไปปรับใช้ ส่วน ไลน์ เอง ก็มีเครื่องมือในการทำให้กลยุทธ์ของแบรนด์ ทำได้ง่ายขึ้นด้วย
ด้านคุณ ชินตา ศรีจินตอังกูร Thailand Site Leader (ไทยแลนด์ ไซต์ ลีดเดอร์) บริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยพบว่า ผู้บริโภคคนไทยในปัจจุบัน มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนไป คือเปลี่ยนจากการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ไปเป็นการใช้จ่าย แบบพิถีพิถัน และตั้งใจมากขึ้น
ซึ่ง นีลเส็นไอคิว แบ่งกลุ่มผู้บริโภคออกเป็น 5 กลุ่ม จากการสำรวจต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ถัดมาคือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ แต่ตอนนี้กลับมาดีขึ้นแล้ว ซึ่งใน 2 กลุ่มแรกนี้ พบว่า ร้อยละ 84 มีความสนใจ หารายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากงานประจำ เพราะรู้ว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึงการปรับตัวของคนไทย ที่มีความพยายามในการหารายได้กันมากขึ้น
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่มีเงินเท่าเดิม ทำให้ต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง
กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบและยังใช้จ่ายเท่าเดิม และสุดท้าย เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมีการใช้จ่ายมากขึ้น
ตัวแปรที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่าย จะมีอยู่ 4 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือ สถานะของผู้บริโภค ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 29 ของคนไทยรู้สึกว่าสภาพทางการเงินของตนดีขึ้น แต่ร้อยละ 35 ของคนไทย ยังรู้สึกว่าไม่ดี และข้อกังวลในลำดับต้น ๆ ของคนไทย คือการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร และความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน รวมถึงปัญหาโลกร้อน และอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นความกังวลที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของคนไทย
อย่างไรก็ดี จากตัวเลขการบริโภคในประเทศที่ยังเติบโต สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภค ยังใช้จ่าย แต่จะระมัดระวัง รวมถึงมีการเตรียมพร้อมเสมอ กับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้เงินนั้นเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ถัดมาคือ ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการบริโภค โดยสินค้าที่ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญคือ สินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค แต่ความภักดีต่อแบรนด์ จะมีน้อยลง และพร้อมที่จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่มองว่าคุ้มค่ามากกว่า
ส่วนปัจจัยที่ 3 เป็นเรื่องของ ความมั่งคั่งที่ไม่เท่ากัน ซึ่งก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ซึ่งแม้ว่า ในปีนี้ ผู้บริโภคจำนวนมากจะเริ่มมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้นแล้ว แต่กลุ่มใหญ่ในสังคมไทย หรือมากกว่าร้อยละ 50 ก็ยังระมัดระวังและมีความกังวลในการใช้จ่าย ดังนั้น ผู้บริโภคส่วนมากยังให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายที่เน้นความเรียบง่าย มีการวางแผนในการใช้จ่าย และหลีกเลี่ยงความสิ้นเปลือง
ปัจจัยสุดท้าย คือ การนิยาม ความคุ้มค่า แบบใหม่ ซึ่งผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ได้มองแค่เรื่องสินค้าราคาถูก เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะพิจารณาถึงความคุ้มค่าในรูปแบบอื่น ๆ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงได้ เช่น จากผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 78 ให้ความสนใจและจะซื้อสินค้าที่มีนวัตกรรม โดดเด่น ไม่มีในตลาดมาก่อน แต่ต้องเป็นราคาที่สามารถเข้าถึงได้ด้วย เป็นต้น
ข่าวแนะนำ