TNN ขุมทรัพย์ "หมอลำ" เงินสะพัด 10,000 ล้าน l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ขุมทรัพย์ "หมอลำ" เงินสะพัด 10,000 ล้าน l การตลาดเงินล้าน

พาไปเจาะขุมทรัพย์ของอุตสาหกรรมบันเทิงท้องถิ่น กับเม็ดเงินที่สะพัดกว่า 10,000 ล้านบาท

เอ็มไอ กรุ๊ป (MI GROUP) โดยทีม เอ็มไอ เลิร์น แล็บ (MI LEARN LAB) เผยข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมความบันเทิงท้องถิ่น ซึ่งพบว่า ภาพรวมของวัฒนธรรมท้องถิ่น และกิจกรรมบันเทิงท้องถิ่น กลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ

เห็นได้จาก เจ้าของคณะหมอลำภาคอีสาน จะมีการลงทุนสูง เพื่อปรับปรุงการผลิตโชว์ รวมถึงการลงทุนใน เครื่องแต่งกาย ไฟ และเครื่องเสียง ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่า ส่งผลต่อปริมาณการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40-45, จำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นร้อยละ 30, ปริมาณเงินที่ผู้ชมนำไปจับจ่ายในงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40-50 และค่าบัตรผ่าน หรือทำบุญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30

ส่วนผู้ชม คาดว่า คนท้องถิ่นทั่วไทยกว่า 20 ล้านคน ทั้งที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น และอยู่ต่างภูมิลำเนา จะให้ความสนใจและเกี่ยวข้องกับความบันเทิงที่เป็นการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน ในวิถีที่แตกต่างกัน ทั้งในรูปแบบการรับประสบการณ์ตรง (คือการไปร่วมชมคอนเสิร์ต) และผ่านช่องทางดิจิทัล และในจำนวนดังกล่าว เป็นตัวเลขทางภาคอีสาน สูงถึง 10 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังพบว่าเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับบันเทิงภูธร ในปัจจุบันมีมูลค่ารวมอยู่ที่ ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าการใช้จ่ายของผู้ชม วงหมอลำ ที่คาดว่าปี 2567 จะเติบโตสูงขึ้น มามีมูลค่าราว 6,000 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งเป็นมูลค่าการใช้จ่ายทางการตลาดที่ แบรนด์ และนักการตลาด ใช้กับอุตสาหกรรมบันเทิงท้องถิ่นโดยรวม (ทุกภาค) อีกประมาณ 4,000 ล้านบาท 

เมื่อเจาะดูเฉพาะ หมอลำ ข้อมูลจาก เอ็มไอ เลิร์น แล็บ พบว่า การใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูหมอลำ มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขก่อนโควิด ระหว่างเดือนกันยายน 2561 ถึง เดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 4,705.71 ล้านบาท 

ส่วนช่วงโควิด ทั้งปี 2564 มูลค่าในส่วนนี้ลดลง เหลืออยู่ที่ 793.23 ล้านบาท แต่ช่วงโควิดระบาด ก็ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของการเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น กลายเป็นแรงผลักให้หมอลำเข้าถึงผู้ชมได้ง่าย และกว้างขึ้น

ตัวเลขล่าสุดระหว่างเดือน กันยายน 2566 ถึง สิงหาคม 2567 มูลค่าการใช้จ่ายพุ่งสูงถึง 5,998.91 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตขึ้นจากช่วงปีโควิดระบาดถึง 756% และเติบโตกว่าช่วงปีก่อนโควิด 127%

สำหรับการแสดง วงหมอลำ จะเปิดรอบการแสดงต่อปีเป็นจำนวนครั้ง มากถึง 2,600 รอบ ในช่วงฤดูกาลที่มีมากถึง 332 วัน และส่วนใหญ่จะมาปิดวิก (หรือ ปิดฤดูกาล) ที่กรุงเทพฯ เนื่องจากมีคนอีสานอาศัยอยู่จำนวนมาก และในแต่ละรอบจะมีผู้ชมมากระหว่าง 2,000 ถึง 6,000 คน ขึ้นอยู่กับขนาดของวง และสถานที่จัดงาน 

ส่วน ผู้ชมหมอลำ จะมีทุกเจนเนอเรชัน เพราะยังคงให้ความสำคัญกับการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้

กลุ่มแรก คือ กลุ่ม "เซามักบ่ได้" หรือ แฟนคลับตัวยง (แฟนด้อม) ที่เป็นแฟนคลับตัวยง ของศิลปิน และแดนเซอร์ เป็นกลุ่มที่รักจริง อยู่ติดขอบเวที และ มาก่อน กลับทีหลัง จะติดตามชมคอนเสิร์ตไม่ต่ำกว่า 7 รอบ ด้วยการเหมารถตู้กันไป เพื่อให้กำลังใจศิลปิน และแดนเซอร์ที่ตัวเองชื่นชอบ รวมถึงกลับมาชมทางออนไลน์อีกด้วย 

ซึ่งแฟนด้อม กลุ่มนี้ จะเป็นสายเปย์ คือ จ่ายหนัก เพื่อสนับสนุนศิลปินในทุกช่องทาง ทั้งให้พวงมาลัย ซื้อสินค้าที่นำมาจำหน่ายในงาน จะมีการจดจำแบรนด์สูง และ มีการเอนเกจเมนต์ กับแบรนด์สูงเช่นกัน และค่าใช้จ่ายของกลุ่มแฟนด้อม จะอยู่ที่ 50,000 บาทต่อคน ต่องาน ซึ่งเป็นตัวเลขค่าเฉลี่ยเท่านั้น เพราะบางรายจะสูงกว่านี้ 

ถัดมา คือกลุ่ม "เป็นตาซังคัก ๆ" หรือ ผู้ชื่นชอบหมอลำ คือชื่นชอบการแสดงแบบทั้งวง เน้นชมรายละเอียด ทั้ง แสง สี เสียง จะมีการเตรียมความพร้อมในการชม คือมีอุปกรณ์และเก้าอี้พร้อมในการดู และก็ดูทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่ม "ซุมมักม่วน" หรือกลุ่มที่เน้นสังสรรค์ ไปเป็นกลุ่มกับเพื่อนเน้นสังสรรค์ เฮฮา เน้นชมคอนเสิร์ตที่มีใกล้บ้าน และเป็นกลุ่มที่พร้อมใช้จ่าย ซื้ออาหาร และซื้อสินค้าที่ร่วมออกบูธ 

และสุดท้าย คือกลุ่ม "ขอเบิ่งนำแหน่" หรือ เป็นผู้ชมความบันเทิงทั่วไป ที่เน้นไปกับครอบครัว และต้องการสืบสานวัฒนธรรม แต่กลุ่มนี้ ก็จะดูผ่านทางออนไลน์เช่นกัน

สำหรับ ช่องทางดิจิทัล พบว่า ร้อยละ 71 ของเหล่าแฟนๆ จะมีส่วนร่วมกับเนื้อหาหมอลำออนไลน์ รวมถึงการถ่ายทอดสดและวิดีโอสั้น

และร้อยละ 68 จะติดตามศิลปินหรือวงที่ชื่นชอบบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่ง แพลตฟอร์มยอดนิยมในการรับชมหมอลำ ได้แก่ Facebook มาเป็นอันดับ 1 ตามด้วย YouTube และ TikTok

ทั้งมีการชมคอนเสิร์ตแบบ LIVE ผ่านทางออนไลน์ กลุ่มที่รับชม 1-2 ชั่วโมงมีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 34 รองลงมาคือรอดูเฉพาะช่วงศิลปินที่ชอบขึ้นโชว์ ร้อยละ 22 และอันดับ 3 คือ ดูแซ่บ ตั้งแต่เริ่มจนจบงาน ร้อยละ 21 

คุณ ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MI GROUP กล่าวว่า หมอลำ ในปัจจุบัน เป็นมหกรรมความบันเทิงยุคดิจิทัล ที่เชื่อมโยงคนทุกเจนในอีสาน ที่ไม่ได้สร้างความสนุกแค่การจัดคอนเสิร์ตเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังเสิร์ฟถึงหน้าจอ ทั้งยังแอคทีฟตลอดเวลา เพื่อสื่อสารและสร้าง เอนเกจ กับแฟนด้อมอย่างใกล้ชิด จนทำให้แฟนคลับจากเวทีหมอลำ ผันตัวมาสู่พลังแฟนด้อม ที่พร้อมจะสนับสนุนศิลปินที่รัก ติดตามและให้กำลังใจในทุกกิจกรรม

ส่วน อินฟลูเอนเซอร์ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหมอลำ แดนเซอร์ และทีมงาน ก็กำลังกลายเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ที่มีพลัง โดยมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง