จี้ธปท.ดูแลเงินบาทหลังแข็งขึ้นร้อยละ 11
หอการค้าไทยฯ จี้ธปท. ดูแลค่าเงินบาทหลังแข็งกว่าร้อยละ 11 หวังกนง. เคาะดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับประเทศไทย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งมากกว่านี้ โดยจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันได้ ค่าเงินบาทควรอยู่ระหว่าง 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ บวกลบไม่มากนัก แต่ความกังวลคือ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นรวดเร็วมาก ซึ่งหากเทียบจากต้นปี 2567 บาทแข็งขึ้นมาประมาณร้อยละ 3 กว่า แต่หากนับจากจุดที่อ่อนค่าบริเวณ 36.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้มีคำสั่งซื้อล่วงหน้า ผู้ประกอบการไทยสามารถกำหนดราคาและแข่งขันกับนานาชาติได้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วเกือบร้อยละ 11 ใกล้ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย แต่เงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 3 ทำให้สินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นสำคัญ อาทิ ข้าวไทย แข่งขันกับเวียดนาม ค่าเงินดอง แข็งค่าเพียง ร้อยละ 3 ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย มีอุปสรรคง่ายมาก ซึ่งขณะนี้ข้าวไทยกลายเป็นเบอร์ 3 แล้ว จากที่เคยอยู่เบอร์ 1 มาตลอด
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เอกชนมองว่าน่าจะดูแลค่าเงินบาท เพราะช่วงก่อนหน้านี้มีการทำคำสั่งซื้อที่ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเป็นค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่าระดับปัจจุบัน รวมถึงสต็อกที่ทำสินค้าในช่วงเงินบาทอ่อน แต่มาขายในช่วงเงินบาทแข็ง ทำให้ต้นทุนแพงขึ้น และขายได้ราคาแปลงเป็นเงินบาทน้อยลง
โดยภาคเอกชนมองว่าการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ ร้อยละ 2-2.5 เพราะออเดอร์ที่รออยู่ อย่างไรก็ต้องส่งออกไปด้วยราคาที่ตกลงกันแล้ว รวมถึงพบว่า จีนประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อาทิ ลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายของธนาคารพาณิชย์ลง ร้อยละ 0.5และลดอัตราดอกเบี้ยต่างๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อซื้อบ้านมือ 1 และ 2 ได้ง่ายขึ้น ทำให้เงินหยวนน่าจะทรงตัวแข็งค่าขึ้นตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตลาดหุ้นน่าจะดีขึ้น และอัตราต้นทุนการแข่งขันอย่างดอกเบี้ยที่ต่ำลง ค่าเงินหยวนจึงแข็งค่าแต่น้อยกว่าไทย ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมีอุปสรรคอยู่
ทั้งนี้การลดดอกเบี้ยอาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งเกินไป และเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นตัว การลดอกเบี้ยอาจเป็นตัวช่วยให้การเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น เป็นตัวสอดประสานนโยบายของ ธปท.ในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยืนยันว่าเป็นการแก้ไขหนี้ครัวเรือนได้ดีที่สุด แต่การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ถือเป็นจุดสุดท้าย ที่เชื่อว่าคงตัดสินอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับประเทศไทย
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ