พิษสงครามราคา! ทำดีลเลอร์รถจีนอ่วม l การตลาดเงินล้าน
สงครามราคาในตลาดรถยนต์จีน เริ่มส่งผลกระทบกับดีลเลอร์ ที่ตอนนี้ประสบกับภาวะขาดทุนและขาดสภาพคล่องในระดับรุนแรง
สื่อต่างประเทศ รายงานว่า สมาคมผู้จำหน่ายรถยนต์แห่งประเทศจีน แสดงความกังวลต่อการขาดทุนของผู้จำหน่ายรถยนต์ หรือ ดีลเลอร์ ซึ่งช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ผู้จำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีผลประกอบการขาดทุนรวมกันกว่า 138,000 ล้านหยวน หรือราว 19,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง อีกด้วย
จึงมีการเรียกร้อง ขอให้รัฐบาลติดตามความเสี่ยงนี้อย่างใกล้ชิด เพราะจะกลายเป็นปัญหาลุกลาม ที่มากขึ้น และขอให้มีการสนับสนุนทางการเงินมากขึ้น แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าว เนื่องจาก ดีลเลอร์ ถือเป็นภาคส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เกี่ยวข้องกับ ทั้งการขาย การตลาด การขนส่ง และบริการหลังการขาย
ที่ผ่านมารัฐบาลจีน มีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ขับขี่เปลี่ยนรถเก่า และมาซื้อรถยนต์พลังงานใหม่ จากมาตรการดังกล่าว ผลักดันให้ยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ในจีน เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ ดีลเลอร์ กลับได้รับความเสียหาย จากสงครามราคาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องขายรถในราคาที่ต่ำลงมาก จนกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก โดยที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานแต่อย่างใด
และปัจจุบัน ยังมีสต็อกรถยนต์รอขายอยู่อีกจำนวนมาก แต่ผู้บริโภคชาวจีนชะลอการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น รถยนต์ ทำให้สถานการณ์มีแต่จะแย่ลง เพราะดีลเลอร์ ต้องระบายสต็อกส่วนเกินด้วยราคาขายที่ต่ำต่อไปอีก
ลางร้ายสำหรับตลาดยานยนต์เกิดขึ้นมาแล้ว จากก่อนหน้านี้มี หนึ่งในดีลเลอร์รายใหญ่ของจีน คือ ไชน่า แกรนด์ ออโตโมทีฟ เซอร์วิสเซส (China Grand Automotive Services) เผชิญกับปัญหาขาดทุนหนัก และถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ หลังจากราคาหุ้นของบริษัท มีระดับต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ หรือ ราคาพาร์ เป็นเวลา 20 วันติดต่อกัน
ด้าน เซาต์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า สงครามราคารถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศจีน เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากผู้ผลิต อีวี จีน ต้องการที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันของตนเองในตลาดต่างประเทศ
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ผลิตรถ อีวีจีน เองก็กำลังเผชิญกับแรงกดดัน เนื่องจากต้นทุนด้านการวิจัยและพัฒนานั้น สวนทางกับอัตรากำไรที่ลดลง โดยราคาที่ลดลงอย่างไม่หยุดยั้ง กำลังกลืนกินอัตรากำไร และอาจหมายถึงหายนะ สำหรับบางบริษัทในระยะข้างหน้า
สื่อดังกล่าว รายงานว่า ผู้ผลิตรถ อีวี ของจีน ก้าวไปอีกขั้นกับการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น เนื่องจากพวกเขามุ่งมั่นที่จะก้าวนำหน้าคู่แข่ง ท่ามกลางรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยต้นทุนการพัฒนาในระดับสูง แต่สงครามราคากลับโหดร้าย ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ ทำกำไรได้ยากขึ้น
บริษัทที่ปรึกษาในเซี่ยงไฮ้ ให้ข้อมูลว่า จะมีรถยนต์ไฟฟ้าล้วน และปลั๊กอินไฮบริดรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดมากกว่า 50 รุ่น ภายในปีนี้ แต่จะมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น ที่จะสามารถสร้างยอดขายได้เพียงพอที่จะชดเชยกับต้นทุนการพัฒนาของพวกเขาได้ ดังนั้น ผู้ผลิต ต้องถามตัวเองด้วยคำถามยาก ๆ ว่า มันคุ้มค่าหรือไม่ ที่จะลงทุนหลายพันล้านหยวน เพื่อพัฒนารถใหม่ ที่ไม่สามารถสร้างยอดขายได้อย่างสวยงาม เว้นเสียแต่ว่าจะมีการเสนอส่วนลดอย่างมากให้แก่ลูกค้า แต่เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว ตลาดที่มีผลิตภัณฑ์คล้ายคลึงกัน จะทำให้มีบางส่วนถูกผลักออกไปจากตลาด ในท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง
ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รถยนต์รุ่นใหม่ที่มีระบบขับขี่อัตโนมัติขั้นสูง และระยะการขับขี่ที่ไกลขึ้น มักจะสามารถดึงดูดคำสั่งซื้อได้หลายพันรายการ ภายในไม่กี่วันนับจากการเปิดตัวล่วงหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากความสนใจที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ต่อรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แต่ในมุมมองของ เดวิด จาง เลขาธิการสมาคมวิศวกรรมยานยนต์อัจฉริยะระหว่างประเทศ (International Intelligent Vehicle Engineering Association) บอกว่า รถรุ่นใหม่เคยช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ผลิตรถยนต์ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น คือการลดราคา จะดึงดูดใจผู้ซื้อได้มากกว่า แต่ปัจจัยด้าน ราคา จะกลายเป็นแรงกดดันให้กับผู้ผลิต เพราะส่วนใหญ่ต้องตัดขาดทุน เพื่อความอยู่รอดในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
ซึ่งปัจจุบัน มีเพียง บีวายดี และ หลี่ ออโต้ (Li Auto) เท่านั้น ที่สามารถทำกำไรจากการขาย อีวี ได้ ในขณะที่ผู้ผลิตอีวี อีกกว่า 50 รายอยู่ในฝั่งตรงกันข้าม
สอดล้องกับ ก่อนหน้านี้ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) เคยออกบทวิจัยเมื่อเดือนเมษายน ระบุว่า ความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรม อีวีจีน ทั้งหมดในปีนี้ (2567) จะกลายเป็นลบ หาก บีวายดี ต้องหั่นราคาลงอีกร้อยละ 7 หรือราว 10,300 หยวนจากราคาปกติ
ด้านยอดขายรถยนต์ในจีน ล่าสุด เป็นยอดขายของเดือนสิงหาคม 2567 พบว่าตัวเลขลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยสมาคมรถยนต์นั่งแห่งประเทศจีน รายงานว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 1,920,000 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ร้อยละ 1.1 และลดลงจากเดือนก่อนหน้า (กรกฎาคม) ของปีเดียวกัน ที่ร้อยละ 3.1
แต่หากแยกดูเฉพาะรถยนต์พลังงานใหม่ พบว่า ครองสัดส่วนยอดจำหน่ายในเดือนสิงหาคม มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์รวม ที่สัดส่วนร้อยละ 53.5 เนื่องจาก บีวายดี ทำสถิติยอดขายสูงสุด และคู่แข่งอย่าง เทสลา ก็มียอดขายที่ดีที่สุดในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา
ทั้งมีคาดการณ์ด้วยว่า ยอดขายทั้งปีนี้ จะเป็นบวกได้ เพราะได้รับแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องจากการส่งเสริมของรัฐบาล และคาดว่ายอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ ทั้งปี จะมีสัดส่วนเข้าใกล้ร้อยละ 50 ของยอดขายทั้งหมด ก่อนจะก้าวข้ามหลักชัยดังกล่าว ในปี 2568
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ขับขี่รถยนต์สันดาป นำรถเก่า มาแลกซื้อรถ อีวี โดยจะได้รับส่วนลดสูงสุดถึง 20,000 หยวน แต่ไม่ว่ายอดขายรถ อีวี และ ปลั๊กอินไฮบริด ที่จะเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาแรงกดดันให้กับดีลเลอร์รถ ที่ต้องต่อสู้กับการต้องขายรถในราคาต่ำ เป็นผลให้ดีลเลอร์มากกว่าคครึ่งหนึ่งประสบกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง
กลับมาดูในประเทศไทยกันบ้าง ยอดขายรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2567 ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 45,190 คัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า (กรกฎาคม 2567) ที่ร้อยละ 2.6 และเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงไปร้อยละ 24.98
รวมระยะ 8 เดือน (มกราคม ถึง สิงหาคม 2567) มียอดขายรถยนต์รวมแล้ว 399,611 คัน ลดลงจากปี 2566 ในระยะเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 23.85
คุณ สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดขายที่ลดลง เนื่องจาก สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการให้สินเชื่อ จากปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และ หนี้เสียรถยนต์ ณ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ก็สูงถึง 254,484 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 เมื่อเทียบจากไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจในประเทศไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ก็เติบโตในอัตราต่ำ ที่ร้อยละ 2.3
อย่างไรก็ดี คาดว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ น่าจะดีขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การแจกเงิน 10,000 บาท และการแก้ใขหนี้ทั้งในระบบ และนอกระบบ รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ก็ทันใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึง ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึงร้อยละ 0.50 และอาจจะลดอีกหนึ่งครั้งในปีนี้
ส่วนรถประเภท BEV ณ เดือนสิงหาคม มียอดจดทะเบียนใหม่จำนวน 8,804 คัน ลดลงร้อยละ 3 จากเดือนสิงหาคมปีก่อน ส่วนช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 69,047 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ HEV มียอดจดทะเบียนใหม่จำนวน 11,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.80 จากเดือนเดียวกันปีก่อน และช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 94,794 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยคาดว่า ยอดจดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่จำนวน 76,000 คัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ที่ 100,000 คัน
ข่าวแนะนำ