"พิชัย" จ่อถกธปท.ปมเงินบาทแข็งค่าเร็ว
พิชัย เผย ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าเร็วกว่าภูมิภาค ทำให้เสียเปรียบประเทศคู่ค้า ยันต้องการหารือกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ทั้งทิศทางเงินเฟ้อ – ดอกเบี้ย และนโยบายการเงินให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หวังเห็นนโยบายการเงินมาสนับสนุนช่วยเศรษฐกิจโตมากขึ้น
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งในขณะนี้มาจากปัจจัยภายนอกที่ธนาคารกลางสหรัฐฯที่มีดอกเบี้ยสูงในระยะเวลานานมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอย่างมีสาระสำคัญ และมีการส่งสัญญาณว่าจะลงต่อไปอีก 0.75% ซึ่งตลาดเชื่อว่าจะลงไปอีก การลงแบบนี้เม็ดเงินก็จะไหลออกจากพันธบัตรสหรัฐฯ มาสู่ตลาดที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา
ซึ่งการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาถือว่าแข็งค่าเร็วกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคทำให้ความสามารถแข่งขันเรื่องส่งออกของประเทศเราเมื่อเทียบกับคู่ค้าแล้วถือว่าค่าเงินเราแข็งค่ากว่าคู่ค้า ไม่ว่าจะเทียบกับเงินหยวนของจีน เงินด่องของเวียดนาม เงินเยนของญี่ปุ่น รูเปียะห์ของอินโดฯ และริงกิตของมาเลเซีย ค่าเงินเราแข็งมากกว่าค่าเงินเราจึงเสียเปรียบ คนที่ดูแลเรื่องนี้ต้องจับไปเป็นปัจจัยว่าที่ค่าเงินเราแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆเพราะอะไร
ขณะที่เงินเฟ้อนั้นจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งหากกำหนดกรอบไว้ 1-3% แต่ยังต่ำกว่ากรอบ สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังต่ำเพราะเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปไม่จูงใจผู้ผลิตให้ขยายการผลิตมากขึ้น ซึ่งเรื่องกรอบเงินเฟ้อก็ถึงเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังต้องมานั่งคุยและตกลงกันว่าอัตราที่เหมาะสมคือเท่าไหร่
ส่วนการหารือกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อนั้น ยืนยันว่า อยากเห็นการหารือร่วมกัน เพื่อให้การทำงานระหว่างนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ด้านนายเผ่าภูมิ โจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า 4 ปัจจัยที่ใช้ดูว่า นโยบายการเงิน หรือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมาะสมหรือไม่ คือ
1.เงินเฟ้อ อยู่ในกรอบหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ต่ำกว่ากรอบ ขณะที่ในอนาคตยังมองว่ายังต่ำกว่ากรอบเช่นเดียวกัน
2.อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ จาก 36 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องมาดูว่าไหวหรือไม่กับสถานการณ์ดังกล่าว
3.การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไทยต่ำหรือไม่ ซึ่งยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยต่ำ และต้องออกมาตรการเหยียบคันเร่งเพิ่ม โดยการใส่เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไป
4.ทิศทางนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ ในโลก เคลื่อนที่ในทิศทางใด ซึ่งปัจจุบันในหลายประเทศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเห็นภาพนี้เกิดขึ้น
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ