TNN เอกชนเรียกร้องธปท.ดูแลบาทแข็งค่า กังวลกระทบส่งออก-ท่องเที่ยว

TNN

เศรษฐกิจ

เอกชนเรียกร้องธปท.ดูแลบาทแข็งค่า กังวลกระทบส่งออก-ท่องเที่ยว

ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่ามากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะในกลุ่มส่งออก แสดงความกังวลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลผลกระทบต่อคำสั่งซื้อในช่วงปลายปี

เงินบาทของไทยช่วงนี้แข็งค่าขึ้น  ยิ่งธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดดอกเบี้ย ยิ่งกดดันค่าเงินไทยแข็งค่ามากขึ้น 

พาไปย้อนดูค่าเงินบาทของไทย ต้นปี เดือนม.ค.2567 อยู่ที่ 35.53 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ต่อมาในเดือนเม.ย. 2567 อ่อนตัวมาอยู่ที่ 37.18 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนในเดือนก.ค.2567 อยู่ที่  35.51 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ในเดือนส.ค.2567 อยู่ที่ 34.02 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ในช่วงต้นเดือนก.ย.ยังได้เห็นกว่า 33.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

 ล่าสุดในวันที่ 20 ก.ย.2567  32.91บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ล่าสุดช่วงคืนวันที่ 20 ก.ย.2567 ค่าเงินบาทหลุดระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 32.91 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นระดับการแข็งค่าสุดในรอบ 20 เดือน นับจากสิ้นเดือนม.ค.2566

ถ้าดูเปรียบเทียบตั้งแต่ต้นปี พบว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และถ้าดูช่วงเดือนเมษายนที่ทำอ่อนค่าสุดของปีที่ระดับกว่า 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ พบว่า เงินบาทแข็งค่าถึงร้อยละ 11 ภายในเวลาไม่กี่เดือน จึงเป็นเรื่องหลายฝ่ายกังวลวจมาก และมีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายรัฐบาล เช่น พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้ามาดูแลการแข็งค่าของเงินบาท และลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ด้าน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว โดยปีนี้บาทแข็งค่าไปแล้วร้อยละ 3.1  และผันผวนมากกว่าบางประเทศ แต่ไม่ได้ผันผวนมากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งมีสกุลเงินอื่นผันผวนมากกว่าไทย เช่น มาเลเซีย

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทบกับทั่วโลก แต่ในไทยนั้นมีปัจจัยเฉพาะเพิ่มเข้ามา คือ ราคาทองคำ ที่เงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค รวมทั้งการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น

สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือ การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน หรือมาจากการเก็งกำไรค่าเงิน หรือ hot money ซึ่งทำให้ความผันผวนของค่าเงินเกิดขึ้นโดยไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง แต่ปัจจุบัน ยังไม่เห็น hot money เข้ามา

มีมุมมองจาก เกวลิน หวังพิชญสุขรองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ระบุว่า ค่าเงินบาทผันผวนสูงมากและแข็งค่ารวดเร็ว ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวะที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของทั้งภาคท่องเที่ยวและภาคส่งออก ทำให้จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะธุรกิจเกษตรแปรรูป ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศและส่งออก โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็จะกระทบความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่ค้า และเวลาแปลงรายได้กลับมาเป็นเงินบาทก็จะได้น้อยลง รวมถึงเรื่องท่องเที่ยวที่ส่งผลทางจิตวิทยา

สำหรับนักท่องเที่ยวที่แลกเงินมาแล้วก็อาจจะใช้จ่ายได้น้อยลงในประเทศไทย ประเด็นนี้อาจจะเป็นผลกระทบธุรกิจในมุมของธุรกิจเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ ถ้าค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าในลักษณะนี้

สอดคล้องกับความเห็นของภาคเอกชน เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มองว่า การส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนเกือบ ร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งทำให้ภาคเอกชนประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยภาคเอกชนกังวลว่า ค่าเงินบาทแข็งแตะระดับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงนี้ หากได้รับผลกระทบจากค่าเงิน จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไม่เติบโตได้เท่าที่ควร

ด้าน วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย  และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบุว่า 

ค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการส่งออกของไทยที่ต้องแข่งขันด้านราคา “ทำให้ผู้ส่งออกที่ส่งมอบสินค้าให้คู่ค้าในต่างประเทศไปแล้ว และยังไม่ได้รับการชำระค่าสินค้า รวมถึงยังไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (ฟอร์เวิร์ด) จะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาททันที นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่า จะเกิดปัญหา การเจรจาขายสินค้าเพื่อส่งออก ทำให้ “คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ” สำหรับสินค้าที่จะส่งมอบปลายปีและต้นปีถัดไป

กลุ่มอาหารแปรรูป ที่ต้องใช้วัตถุดิบในประเทศผลิตเพื่อส่งออก ได้รับผลกระทบเมื่อเงินบาทแข็งค่ามาก ซึ่งเอกชนไม่ได้ต้องการค่าเงินบาทต้องอ่อนเท่าไหร่ แต่ต้องดูแลให้มีเสถียรภาพผันผวนก็ไม่ควรเกิน ร้อยละ 1-2 แต่ล่าสุดค่าเงินบาทผันผวน ร้อยละ  10 ในช่วง 2 เดือน แม้เอกชนผู้ส่งออกจะมีการประกันความเสี่ยง แต่ยังไม่สามารถปรับมือได้ 

ด้านชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า  ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งจะส่งกระทบต่อกำไร และสภาพคล่องของผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก โดยช่วงนี้เป็นช่วงส่งมอบสินค้าเดิม ผลกระทบจะไม่มากนัก แต่จะกระทบต่อคำสั่งซื้อใหม่ที่จะเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2568 เป็นเรื่องที่น่าห่วงว่าจะมีผลกระทบอย่างมากกับผู้นำเข้าสินค้าไทย

เมื่อเงินบาทของไทยที่แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและผลกำไร สภาพคล่องของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) “มองว่าค่าเงินบาทของไทยควรจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ” 

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 ในการแถลงข่าวของสภาหอการค้าไทย ร่วมกับสมาคมต่างๆ ถึงกรณีค่าบาทแข็ง เช่น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออก สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และสมาคมโรงแรมไทย  

ทางภาคเอกชนได้ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย มาอ้างอิง โดยระบุว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี กระทบรายได้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 0.5 ของ GDP  ดังนั้น ค่าเงินบาทที่ผันผวนในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยโดยทันที โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก หรือ Local Content อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งการที่ค่าเงินบาทผันผวนจะส่งผลกระทบใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1.ขีดความสามารถในการแข่งขัน  ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและประมงจะปรับสูงขึ้นทันที ร้อยละ 10 ส่งผลให้ผู้ผลิตและแปรรูปในไทยอาจต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากผู้ซื้อจะหันไปหาสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า

2.การวางแผนการผลิตและการตลาด หากค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตและแปรรูปอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหรือการผลิตได้ทันเวลา ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.ความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงทางธุรกิจส่งออกเนื่องจากความผันผวนของค่าเงิน ความผันผวนของค่าเงินสร้างความไม่แน่นอนในตลาด การลงทุนและการวางแผนธุรกิจจะยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่หรือขยายตลาด ส่งผลให้ขาดโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในอุตสาหกรรมของไทยอย่างเหมาะสม

ด้าน “ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” แสดงความ เป็นห่วงเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยหลุด 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดือนก่อนหน้าเฉลี่ยเฉลี่ย 35-36 บาท โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อความสามารถการแข่งขันไทย เพราะทุกการแข็งค่า 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ข้าวไทยแพงขึ้น 15-30 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งจะทำให้ไทยการส่งออกข้าวยากขึ้น

ผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นล่าสุด ทำข้าวไทยแพงขึ้นแล้ว 50 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ขายยากขึ้น โดยล่าสุดการเปิดประมูลข้าวของอินโดนีเซีย 3.5 แสนตัน เวียดนาม เมียนมา และปากีสถาน ชนะประมูลรวมกว่า 2 แสนตัน และในวันที่ 24 กันยายนนี้ อินโดนีเซียจะเปิดประมูลนำเข้าข้าวอีก 4.5 แสนตัน ซึ่งจัดไทยใปร่วมกลุ่มกับปากีสถานและกัมพูชาในการพิจารณา จึงมีโอกาสน้อยที่ได้จะชนะประมูล เพราะเมื่อเทียบค่าเงินบาท พบว่าราคาส่งออก(FOB) ปากีสถานไม่เกิน 510 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ต้นทุนไทยต้องขาย 560 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ค่าเงินบาทแข็งน่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ อาจส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกข้าวทั้งปีนี้ลดลง เหลือ 6.5-7.5 ล้านตัน จากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้  8.5 ล้านตัน

 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง