TNN ดอกเบี้ยขาลง เศรษฐกิจไทยเดินทางไหน | เศรษฐกิจ INSIGHT

TNN

เศรษฐกิจ

ดอกเบี้ยขาลง เศรษฐกิจไทยเดินทางไหน | เศรษฐกิจ INSIGHT

ดอกเบี้ยขาลง เศรษฐกิจไทยเดินทางไหน | เศรษฐกิจ INSIGHT

หลังจาก ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 เกิดแรงกระเพื่อมทั้งภาคธนาคาร ตลาดหุ้น เพราะการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึง "วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง" อย่างแท้จริง

หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงร้อยละ 0.5 เหลือร้อยละ 4.75- 5.00 เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 ถือเป็นการเริ่มต้นวัฏจักรของการลดดอกเบี้ยของโลกเป็นที่เรียบร้อย 


เพราะที่ผ่านมา “เฟด” จะลดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 ตามปกติ ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ คาดการณ์ไว้ว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาดแรงงานสหรัฐที่ส่งสัญญาณอ่อนลง


ขณะที่ เจ้าหน้าที่เฟดยังส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยปีนี้อีกร้อยละ 0.50 ในปี 2568 อีกร้อยละ 1 และปี 2569 อีกร้อยละ 0.50 ในปี 2569


นอกจากนี้ ผลการประชุมของ "เฟด" ยังสร้างแรงกดดันไปยังธนาคารกลางอื่นทั่วเอเชียให้อาจพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยตามในปีนี้ และปีหน้าได้  


อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทางฝั่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ โดยนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า กรณีเฟดลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ในการประชุมที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดไว้ ถือเป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง 


ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ร้อยละ 0.50 ถือว่าเกินกว่าที่หลายๆ สถาบันคาดการณ์ไว้ ทั้งๆ ที่เฟดส่งสัญญาณว่า ปีนี้จะลดดอกเบี้ยร้อยละ 1 และนับจากนี้เหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง 


ซึ่งคาดเดาสาเหตุได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางการเมือง หรือทางเฟดอาจจะเห็นตัวเลขอะไรที่ซ่อนอยู่ หรือเฟดลดดอกเบี้ยช้าเกินไป เลยมาลดครั้งนี้ที่ร้อยละ 0.50 


แต่ที่แน่ๆ คือวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงได้เริ่มขึ้นแล้ว ส่วนทางฝั่งของไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะมีการประชุมอีก 2 ครั้งในปีนี้ คือ เดือนตุลาคม และธันวาคม 


แม้เงินเฟ้อจะต่ำ เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวแล้วซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถลดดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ผมยังไม่เห็นสัญญาณการลดดอกเบี้ยในปีนี้จากธปท.


ในขณะที่ทางฝั่งเอกชน กลับเห็นต่างและต้องการให้ กนง.เร่งลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระประชาชน เช่น นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50 


คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ตามเฟด เนื่องจากปัจจุบันการที่ กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย กระทบต่อค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว 


เพราะวันนี้ค่าเงินบาทเทียบกับเงินหยวนมันแข็งค่าเร็วร้อยละ 7-8 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นหาก กนง.มีการลดอัตราดอกเบี้ย จะทำให้สร้างดีมานด์ใหม่การซื้อที่อยู่อาศัยได้ในช่วงไตรมาส 4 นี้ที่มีคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่รอโอนกว่า 80,000 ล้านบาท


ส่วนเศรษฐกิจในปีนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ระดับร้อยละ 2.6 และมองว่าภาพรวมครึ่งปีหลังจะเติบโตสูงกว่าครึ่งปีแรก จากฐานที่ต่ำในปีก่อน ที่มีปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ 


แต่อย่างไรก็ตาม ได้ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออก เพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 มาเป็นร้อยละ  2.5 จากช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาภาคส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 และปรับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นร้อยละ 0.5 จากเดิมที่ร้อยละ 0.8


สำหรับการที่คงตัวเลขจีดีพีไว้ระดับร้อยละ 2.6 นั้น ได้รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไว้แล้ว โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอก ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า ดอกเบี้ย ไปพร้อมๆ กับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ดังนั้น การจะได้เห็นจีดีพีเติบโตตามศักยภาพคงจะยาก 


นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงที่กระทบเศรษฐกิจไทย  คือ ความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งวิจัยกสิกรฯ ประเมินว่าจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบ 200,000 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 1 ล้านไร่ 


และหากมีความเสียหายเพิ่มขึ้นมาถึงพื้นที่ธุรกิจอาจจะทำให้ความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านบาทได้ 


นอกจากนี้ยังต้องติดตาม การบริโภคเอกชนอ่อนแอลง เรื่องค่าเงินบาทที่จะกระทบกับภาคส่งออกได้ ปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่จบ ประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ต่อวัน ที่หากสามารถดำเนินการได้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้  ธุรกิจที่ใช้จำนวนแรงงานมากจะเดินต่อไปไม่ได้ 


จากข้อมูลที่กล่าวมา ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะหลังยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามทั้งในและนอกประเทศ และในปีนี้ กนง.อาจจะยังไม่ลดดอกเบี้ยแม้ทั้งโลกอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง


สอดคล้องกับผู้ว่าธปท.ระบุว่า การลดดอกเบี้ยต้องดู  3 ปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก คือ เศรษฐกิจเติบโต เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน ซึ่งยังเดินหน้าได้ดีอยู่ 

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง