TNN ธุรกิจ "รับจ้างลาออก" โตแรงในญี่ปุ่น l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ธุรกิจ "รับจ้างลาออก" โตแรงในญี่ปุ่น l การตลาดเงินล้าน

พนักงานในญี่ปุ่นหันมาพึ่ง "บริษัทรับจ้างลาออก" มากขึ้น หลังต้องกลับเข้าทำงานในออฟฟิศที่ตึงเครียด

ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมในการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง หนี่งในนั้นคือการทำงานกับนายจ้างเพียงคนเดียวนานหลายทศวรรษหรือแม้กระทั่งตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามด้วยวัฒนธรรมการทำงานอย่างหนัก ตั้งแต่ 09.00 - 21.00 น. หรือ 12 ช.ม.เป็นอย่างน้อย ส่งผลเสียต่อสุขภาพของพนักงาน จนบางรายคิดที่จะลาออกประกอบกับพฤติกรรมของคนทำงานที่เปลี่ยนไปหลังโควิดระบาด จากทำงานจากที่บ้านเป็นเวลาหลายปี แม้แต่พนักงานที่จงรักภักดีที่สุดในญี่ปุ่นบางคนก็หันกลับมาพิจารณาอาชีพของตน 

แต่การลาออกเป็นเรื่องยากมากในสังคมการทำงานญี่ปุ่น เนื่องจากวัฒนธรรมการทำงานจากบนลงล่าง คือผู้บังคับบัญชามีอำนาจมากในการกำหนดหลักการทำงาน การขอเลิกงานตรงเวลาหรือขอหยุดงานถูกมองเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นการขอลาออกจึงถูกมองเป็นขั้นสูงสุดของการไม่เคารพในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด เจ้านายอาจไม่พอใจจนฉีกจดหมายลาออกซ้ำแล้วซ้ำเล่าและคุกคามพนักงานจนถึงที่บ้าน หรือพาไปที่วัดเพื่อบังคับให้พวกเขาอยู่ต่อเลยทีเดียว

พนักงานชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจึงหันไปว่าจ้างบริษัทตัวแทนรับข้างลาออก เพื่อช่วยให้พวกเขาลาออกได้อย่างราบรื่น เช่น โมมุริ ไม่มีการนับอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับจำนวนบริษัทรับจ้างลาออกที่ผุดขึ้นมาทั่วประเทศ แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ชิโอริ คาวามาตะ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของโมมุริกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว มีลูกค้าติดต่อมาสอบถามถึง 11,000 ครั้ง

บริษัทนี้ตั้งอยู่ในมินาโตะ หนึ่งในย่านธุรกิจที่พลุกพล่านที่สุดของโตเกียว เปิดตัวในปี 2565 โดยจะมีค่าใช้จ่าย 22,000 เยน หรือ ประมาณ 5,200 บาท สำหรับพนักงานประจำ และ 12,000 เยน หรือ 2,800 บาท สำหรับพนักงานพาร์ทไทม์ โดยให้คำมั่นที่จะช่วยพนักงานยื่นใบลาออก ด้วยการเจรจากับบริษัท และให้คำแนะนำเรื่องทนายความหากมีข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้น

คาวามาตะ กล่าวว่า ผู้ที่ติดต่อมักจะทำงานให้กับธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง โดยผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารมีความเสี่ยงมากที่สุด ตามมาด้วยการดูแลสุขภาพ และสวัสดิการ

ด้านศาสตราจารย์ ฮิโรชิ โอโนะ ศาสตราจารย์ด้านทรัพยากรบุคคล จากคณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิในโตเกียว กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวมีความกดดันมากจนรัฐบาลเริ่มเผยแพร่รายชื่อนายจ้างที่ผิดจรรยาบรรณเพื่อขัดขวางความสามารถในการจ้างงาน และเตือนผู้หางานถึงอันตรายจากการทำงานให้พวกเขา โดยนับจนถึงตอนนี้มีบริษัทมากกว่า 370 แห่งทั่วประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำโดยกรมแรงงาน นับตั้งแต่มีการเผยแพร่รายชื่อดังกล่าวในปี 2560

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง