TNN ยึด "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" 256 ตัน ลักลอบนำเข้าไทย 10 ตู้คอนเทนเนอร์

TNN

Earth

ยึด "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" 256 ตัน ลักลอบนำเข้าไทย 10 ตู้คอนเทนเนอร์

ยึด ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 256 ตัน ลักลอบนำเข้าไทย 10 ตู้คอนเทนเนอร์

กรมศุลกากรจับกุม “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” 10 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักกว่า 256 ตัน ก่อนผลักดันส่งกลับต้นทาง ญี่ปุ่น ฮ่องกง

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากรเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ 


โดยจากการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดพบว่า อาจมีการนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 3 และ 6 มกราคม 2568 กองสืบสวนและปราบปรามร่วมกับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงทำการตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัย จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งพบว่า มีการแสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็น "เศษโลหะและโลหะเก่าใช้แล้ว" เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการอายัดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบโดยละเอียด 


และผลการตรวจสอบพบว่า สินค้ามีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น  9 ตู้ และฮ่องกง 1 ตู้ ภายในพบ "เศษชิ้นส่วนอุปกรณ์ หรือส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไม่ได้ มีสภาพเป็นเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณกว่า 256,320 กิโลกรัม ซึ่งสินค้าดังกล่าว ถือเป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ และถือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และละเมิดอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน


สำหรับสถิติการจับกุมของที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 - 14 มกราคม 2568) ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 19 คดี น้ำหนัก 256,643 กิโลกรัม เศษพลาสติก 6 คดี น้ำหนัก 322,980 กิโลกรัม รวมทั้งหมด 25 คดี น้ำหนัก 579,623 กิโลกรัม


ทั้งนี้ กรมศุลกากรยังเฝ้าระวังสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนอื่น ๆ ด้วย เช่น เศษพลาสติก ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 รวมถึงขยะเทศบาล เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลก เริ่มมีขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ต้นทุนการทำลายแพง จึงหาช่องทางส่งมายังลักลอบส่งไปทิ้งยังประเทศอื่นทั่วโลก


ภาพ: กรมศุลกากร : The Customs Department



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง