"บราซิล" ป่วยไข้เลือดออกพุ่ง ปี 67 เสียชีวิตเกือบ 6,000 ราย เหตุ "โลกร้อน" จนวิถีชีวิตยุงเปลี่ยน
ปี 2567 เป็นปีที่ประเทศบราซิล เผชิญวิกฤตไข้เลือกออกระบาด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 6,000 ราย นับเป็นสถิติที่สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี ส่วนหนึ่งเกิดจาก “ภาวะโลกร้อน”
กระทรวงสาธารณสุขบราซิล เปิดเผยข้อมูลล่าสุด พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก จำนวน 5,972 ราย ในปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี โดยจนถึงวันที่ 28 ธันวาคม บราซิลรายงานว่า มีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศทั้งสิ้น 6 ล้าน 4 แสน 8 หมื่นราย ซึ่งก็เป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปีเช่นกัน
ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เพิ่มขึ้นเกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น อันเป็นผลจากวิกฤตสภาพอากาศ โดยโรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน และเพื่อเป็นการควบคุมการระบาดของไข้เลือดออก บราซิล ได้กำหนดแผนการใหม่เพื่อลดประชากรยุงลายที่เป็นพาหะของไวรัสนี้ ซึ่งแผนดังกล่าวรวมถึงการสร้างกับดักตัวอ่อนเพิ่มเติมและการนำยุงที่ดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้เพื่อลดความสามารถในการแพร่เชื้อไวรัส
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงกลางปี 2567 บราซิลพบผู้เสียชีวิตจากโรค “ไข้โอโรพุช” (Oropouche fever) เป็นครั้งแรกของโลก จำนวน 2 ราย โดยรายงานของกระทรวงสาธารณสุขบราซิล ระบุว่า ผู้เสียชีวิตทั้งสองรายมีอาการป่วยคล้ายกับโรคไข้เลือดออกเดงกี่ที่มีอาการรุนแรง
ซึ่งในอดีตยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตด้วยโรคไข้โอโรพุชมาก่อน นับตั้งแต่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคนี้ในทวีปอื่น ๆ รวมทั้งทวีปเอเชีย
ด้านกระทรวงสาธารณสุขของไทย เตือนให้เฝ้าระวัง 6 โรค หลังการเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ 1 ใน นั้น คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งยังคงพบผู้ป่วยสูงในภาคใต้ เนื่องจากภาคใต้ยังมีฝนตกและน้ำท่วม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว การป้องกันยังคงเน้นย้ำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs แก่ผู้ป่วยที่สงสัยว่า ป่วยไข้เลือดออก และแนะนำให้ทายากันยุงเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด
ข่าวแนะนำ