TNN “พายุปาบึก” ส่งผลต่อไทย 13–16 ธ.ค. 2567 ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงแล้ว

TNN

Earth

“พายุปาบึก” ส่งผลต่อไทย 13–16 ธ.ค. 2567 ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงแล้ว

“พายุปาบึก” ส่งผลต่อไทย 13–16 ธ.ค. 2567 ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงแล้ว

“พายุปาบึก” ส่งผลต่อประเทศไทย 13–16 ธ.ค. 2567 ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงแล้วเป็นข้อมูลเท็จ

ตามที่มีคำเตือนเกี่ยวกับเรื่อง จะเกิดพายุปาบึก ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ในช่วงวันที่ 13–16 ธ.ค. 67 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทาง กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ


กรณีที่มีผู้โพสต์เตือนในสื่อออนไลน์ โดยแสดงภาพโมเดลทางอุตุนิยมวิทยา พร้อมคำเตือนระบุว่าจะเกิดพายุ ชื่อ ปาบึก วนกลับมาอีกครั้ง ในช่วงวันที่ 13–16 ธ.ค. ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า โมเดลดังกล่าวแสดงผลออกมาเป็นปริมาณฝน ไม่ได้แสดงว่า เป็นพายุ อย่างไรก็ตาม ฝนตกหนัก-หนักมาก อาจเกิดขึ้นได้ ถ้ามีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนเข้ามา เพราะมีความกดอากาศสูงลงมา ทำให้เกิดการปั่นเป็นไซโคนิก เป็นหย่อมโลว์ได้ แต่ยังไม่ถึงขึ้นขั้นพายุ ค่าความน่าจะเป็นที่จะเป็นพายุยังไม่สูงพอ ซึ่งหากมีพายุเกิดขึ้นและมีผลกระทบกับประเทศไทยกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศให้ทราบอย่างน้อย 3 วัน


สำหรับพยากรณ์อากาศในช่วงวันที่ 3-6 ธ.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียและลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง และช่องแคบมะละกา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง


ส่วนในช่วงวันที่ 7-9 ธ.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ไม่ถึงขั้นพายุ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลางตลอดช่วง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข่าวปลอมนี้ และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather หรือสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)



ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง