ฝนถล่มภาคใต้ไม่หยุด "นราธิวาส" หนักสุดในรอบ 50 ปี "ยะลา" หนักสุดในรอบ 40 ปี
ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ “นราธิวาส” และ "ยะลา" ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนกว่า 16,000 ครัวเรือน
จังหวัดนราธิวาส มีฝนตกหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงทำให้มวลน้ำเอ่อล้นเข้าท่วม เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส รวมทั้งเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก และอำเภอรอบนอกอีก 11 อำเภอ
ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ประกาศเขตภัยพิบัติแล้ว 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง, บาเจาะ, แว้ง, รือเสาะ, เจาะไอร้อง, สุคิริน และยี่งอ รวม 33 ตำบล 153 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 5,887 ครัวเรือน โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนแล้ว 68 โรงเรียน และยังต้องปิดเส้นทางขบวนรถไฟที่จะเดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาส นับเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบ 50 ปี
ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทั้ง 13 อำเภอ พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมเปิดศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเ 4 จุดในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส พร้อมสั่งการให้จัดเตรียมอาหารและน้ำดื่ม รวมทั้งเจ้าหน้าที่พยาบาลคอยดูแล ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนจากทางจังหวัดอย่างใกล้ชิด
ส่วนที่จังหวัดยะลา ยังคงมีฝนตกหนักลงมาอย่างหนักต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 26 พฤศจิกายน จนถึงช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา (27 พ.ย.) ก็ยังไม่มีทีท่าว่าฝนจะหยุดตก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงเอ่อล้นเข้าท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจในตัวเมืองยะลา ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร บางพื้นที่ต้องใช้เรือในการเดินทาง ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี
นางสาวฐิติคุณ ทองพลัส ชาวบ้านในเขตเทศบาลนครยะลา บอกว่า ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมเร็วมากจนไม่ทันตั้งตัว คิดว่าเหมือนทุกปีที่ที่น้ำท่วมไม่มาก ทำให้ขนของหนีน้ำได้แค่บางส่วน บางส่วนก็ต้องปล่อยให้ถูกน้ำท่วมไปเพราะขนไม่ไหว เช่นตู้ที่หนักมากๆ ก็ต้องทำใจ
ด้านศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดยะลา สรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา ได้รับผลกระทบหนักที่สุด รวม 10 ตำบล รวมกว่า 16,000 ครัวเรือน อำเภอยะหา กระทบ 6 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 72 ครัวเรือน และอำเภอบันนังสตา กระทบ 2 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 16 ครัวเรือน โดยในพื้นที่ยังมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง จังหวัดยะลาได้แจ้งทุกอำเภอ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนฝนที่ตกหนักในช่วงนี้เป็นผลมาจาก มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมมีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศมาเลเซีย โดยมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศเตือนให้เฝ้าระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักสะสม เพราะอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มไปจนถึงวันที่ 4 ธ.ค.นี้
ภาพ: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนราธิวาส
ข่าวแนะนำ