15 พ.ย. วันลอยกระทง ร่วมอนุรักษ์ประเพณีไทยแบบรักษ์โลก
“ปีนี้ 15 พฤศจิกายน เป็นวันลอยกระทง ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีการรณรงค์ให้การลอยกระทงนั้นลดขยะให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและยังได้อนุรักษ์ประเพณีอยู่เช่นเดิม”
การลอยกระทงนั้น เราสามารถช่วยลดปริมาณขยะได้ โดยเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากข้อมูลนั้นพบว่า วัสดุยอดนิยมในการทำกระทง อันดับ 1 ก็คือหยวกกล้วย โดยวัสดุชนิดนี้มีระยะเวลาย่อยสลาย 14 วัน ส่วนอันดับ 2 คือขนมปัง ซึ่งใช้ระยะเวลาย่อยสลาย 3 วัน อันดับ 3 คือกะลามะพร้าว ใช้เวลาย่อยสลาย 15 วัน อันดับ 4 กระดาษ ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2-5 เดือน และอันดับ 5 คือ โฟม ซึ่งเป็นวัสดุที่ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายนานมากกว่า 500 ปี จึงเป็นสิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพราะจะสร้างปัญหามลพิษที่ต่อแหล่งน้ำในระยะยาวได้
และข้อมูลจากกรุงเทพมหานครพบว่า ปีที่แล้วสถิติการออกมาลอยกระทงของชาวกรุงเทพนั้นเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 11% โดยกระทงที่เก็บได้ในปีที่ผ่านมามีมากถึง 639,828 ใบ มากที่สุดในรอบ 5 ปี แต่สัดส่วนของกระทงโฟมนั้นลดลง คือพบทั้งหมด 20,877 ใบ ถือว่าเป็นสัญญาณดี เพราะย้อนกลับไปในปี 2561 เราพบว่ามีประชาชนใช้กระทงโฟมมากถึง 44,000 กว่าใบเลยทีเดียว แต่จริงๆแล้ว การลอยกระทงไม่ว่าจะเป็นวัสดุจากธรรมชาติหรือไม่ทำธรรมชาติ ถ้าหากมีปริมาณที่มากเกินไปก็อาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ และเกิดเป็นขยะอีกจำนวนมหาศาล หลายฝ่ายจึงรณรงค์ให้ลดการลอยกระทง ซึ่งล่าสุดทางกรุงเทพมหานครก็ได้ออกแคมเปญลอยกระทงดิจิทัล ในปีที่แล้วเป็นปีแรก ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีทีเดียว
เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีลอยกระทงให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป เราควรที่จะเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลอยกระทงแบบ 1 กระทง 1 ครอบครัว เพื่อทำให้การลอยกระทงในปีนี้สร้างมลพิษน้อยที่สุด
ข่าวแนะนำ