"ฟิลิปปินส์" อ่วมหนัก เจอพายุ 6 ลูกถล่มภายใน 1 เดือน
“ฟิลิปปินส์” กำลังจะเผชิญพายุกำลังแรงถึง 6 ลูกในรอบหนึ่งเดือน โดยก่อนหน้านี้เผชิญทั้งจ่ามี, กองเร็ย, หยินซิ่ง และโทราจี โดยไต้ฝุ่นอูซางิจะเป็นลูกที่ 5 ที่คาดว่าจะพัดขึ้นฝั่งในวันพฤหัสบดีนี้ และพายุโซนร้อนหม่านหยี่เป็นลูกที่ 6
ทางการฟิลิปปินส์ สั่งอพยพประชาชนหลายหมื่นคน เพื่อเตรียมรับมือกับพายุกำลังแรงลูกที่ 6 ที่คาดว่า จะเคลื่อนเข้าพัดถล่มในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ “ไต้ฝุ่นโทราจี” ได้พัดเข้าถล่มฟิลิปปินส์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน เคลื่อนตัวออกสู่ทะเลเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ซึ่งพายุลูกนี้สร้างความเสียหายอยู่ในวงจำกัด และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ขณะที่ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ แถลงว่า พายุโซนร้อนลูกใหม่ชื่อ “อูซางิ” (Usagi) อยู่ห่างจากชายฝั่งเกาะลูซอน เกาะใหญ่สุดและมีประชากรมากที่สุดของฟิลิปปินส์ คาดว่า จะทวีความรุนแรงขึ้น
“รูเอลี ราปซิง” หัวหน้าสำนักงานป้องกันภัยพลเรือนของจังหวัดคากายันกล่าวว่า ดูเหมือนพายุลูกนี้จะตามรอยไต้ฝุ่นหยินซิ่ง ซึ่งพัดถล่มภาคเหนือสุดของประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเจ้าหน้าที่ได้อพยพประชาชนออกไปล่วงหน้า 40,000 คน ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะคล้ายคลึงกัน จึงต้องอพยพประชาชนอีกรอบ
ด้านรัฐบาลกลางฟิลิปปินส์ แถลงว่า ได้อพยพประชาชนมากกว่า 32,000 คนจากพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือของประเทศ ก่อนไต้ฝุ่นโทราจี พัดขึ้นฝั่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยการอพยพมีขึ้นหลังจากโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี”, ไต้ฝุ่น “หยินซิ่ง” และซูเปอร์ไต้ฝุ่น “กองเร็ย” พัดถล่มมีผู้เสียชีวิตรวมกัน 159 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างโซนร้อนจ่ามี พัดถล่ม ทำให้ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม
พายุโซนร้อน “อูซางิ” ทวีความรุนแรงมากขึ้น เคลื่อนตัวด้วยความเร็วลม 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจเริ่มส่งผลกระทบในพื้นที่ช่วงกลางดึกวันอังคาร และกลายเป็นไต้ฝุ่นในวันพุธ ก่อนพัดขึ้นฝั่ง ในวันพฤหัสบดี
หลังจากโซร้อนอูซางิพัดถล่มแล้ว สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแถลงว่า โซนร้อน “หม่านหยี่” ซึ่งขณะนี้อยู่ใกล้เกาะกวม อาจพัดถล่มฟิลิปปินส์ในช่วงต้นสัปดาห์หน้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วพายุและไต้ฝุ่นกำลังแรงประมาณ 20 ลูกพัดถล่มฟิลิปปินส์ หรือน่านน้ำโดยรอบในแต่ละปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และผู้คนอีกหลายล้านคนต้องเผชิญกับความยากจน
ผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า พายุในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตัวใกล้แนวชายฝั่งมากขึ้น, ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว และกินเวลาเหนือพื้นดินนานขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข่าวแนะนำ