TNN ที่ประชุม "COP29" ไฟเขียวแล้ว "กรอบตลาดคาร์บอนเครดิตโลก" ผลักดันแหล่งเงินทุนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

TNN

Earth

ที่ประชุม "COP29" ไฟเขียวแล้ว "กรอบตลาดคาร์บอนเครดิตโลก" ผลักดันแหล่งเงินทุนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

ที่ประชุม COP29 ไฟเขียวแล้ว กรอบตลาดคาร์บอนเครดิตโลก ผลักดันแหล่งเงินทุนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

ที่ประชุมสุดยอด "COP29" รับรอง "กรอบตลาดคาร์บอนเครดิตโลก" ตั้งแต่วันแรกของการเปิดประชุม เพื่อเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตโลกในปีหน้าเป็นอย่างเร็ว ให้เป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

"การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" หรือ COP29 ได้รับรอง "กรอบตลาดคาร์บอนเครดิตโลก" เพื่อเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตโลก และกำหนดมาตรฐานคุณภาพคาร์บอนเครดิตภายใต้มาตรา 6.4 ของ "ข้อตกลงปารีส" (Paris Agreement) ในวันแรกของการเปิดประชุม COP29 เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.) 


นับเป็นการให้ไฟเขียวเดินหน้าการเปิดตลาดคาร์บอนโลก ซึ่งเป็นตลาดที่สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ให้การสนับสนุน และนับเป็นการบรรลุความตกลงได้ตั้งแต่วันแรกของการเปิดประชุมสุดยอดคอป29 ของยูเอ็น จัดขึ้นที่กรุงบากู เมืองหลวงอาเซอร์ไบจาน


“กรอบตลาดคาร์บอนโลก” คือการกำหนดมาตรฐานคุณภาพคาร์บอนเครดิต อันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเปิดตลาดคาร์บอนโลก ยูเอ็นให้การสนับสนุนการเปิดตลาดคาร์บอนโลก เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 


สำหรับมาตรา 6.4 ตาม "ข้อตกลงปารีส" (Paris Agreement) คือการเริ่มเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตโลกที่ยูเอ็นสนับสนุน ให้เริ่มเปิดตลาดได้ในปีหน้าเป็นอย่างเร็วที่สุด โดยการดำเนินการเพื่อเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตโลกได้ดำเนินการมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว


ความหมายของ "คาร์บอนเครดิต" ในทางทฤษฎี คือการยอมให้ประเทศต่าง ๆ หรือบริษัทต่าง ๆ จ่ายเงินสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ใดก็ได้ในโลกนี้ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือก๊าซเรือนกระจก หรือช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากชั้นบรรยากาศ การจ่ายเงินสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เหล่านั้น จะสร้าง "คาร์บอนเครดิต" ให้แก่ประเทศผู้จ่ายเงินทุนสนับสนุนโครงการเหล่านั้น ซึ่งประเทศเหล่านั้นสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นนี้ ไปชดเชยการแพร่ก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้


ตัวอย่างการสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต ก็เช่น การปลูกป่าชายเลนที่ช่วยดูดซับ CO2 , การแจกจ่ายเตาถ่านสะอาดในชุมชนชนบทยากจน เพื่อใช้แทนเตาถ่านแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นวิธีปรุงอาหารที่ก่อมลพิษ


ตลาดคาร์บอนเครดิตนี้ อาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่บริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐฯ จะสามารถรักษาการมีส่วนร่วมในความพยายามของโลกเพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน ต่อไปได้ แม้หากว่าที่ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ของสหรัฐฯ อาจถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสก็ตาม หากเป็นเช่นนั้นจริง บริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐฯ จะยังคงสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาดคารบอนเครดิตโลกได้ ถ้าหากยังต้องการบรรลุเป้าหมายแก้ปัญหาโลกร้อนโดยสมัครใจ


สำหรับการประชุม COP29 จะใช้เวลานานเกือบ 2 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11-22 พย. นี้



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง