จับตา COP29 ประชุมโลกร้อน 11-22 พ.ย.ที่อาเซอร์ไบจาน
“การประชุม COP 29 เป็นการประชุมระดับโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพอากาศซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน”
คำว่า COP นั้นย่อมาจาก Conference of the Parties เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มา 29 ปีแล้ว โดยการประชุม COP ครั้งแรก เกิดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อปีพ.ศ. 2538 ส่วนปีที่แล้ว งาน COP28 จัดขึ้นที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และปีนี้ งาน COP29 จัดขึ้นที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งในการประชุมก็จะมีทั้งบรรดาผู้นำโลก ผู้แทนองค์กรต่าง ๆ รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุม
โดยเป้าหมายในการประชุม COP29 ในเมืองบากูนั้น ประเด็นสำคัญคือ การหารือการจัดการด้านการเงินเพื่อการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยเป้าหมายสำคัญคือการรับประกันว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการจัดหาเงินทุนจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งเป็นคำมั่นที่ทำไว้ในการประชุม COP21 ที่ปารีส รวมถึง ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งมุ่งเน้นให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเป็นไปอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมสำหรับทุกคน โดยคำนึงถึงมิติทางสังคมและการตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และอีกประเด็นคือ เรื่อง แนวทางการจัดการกับความสูญเสียและความเสียหาย โดยให้การสนับสนุนแก่ประเทศและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และที่สำคัญคือ ในที่ประชุมต้องกลับมา ทบทวนและเพิ่มข้อกำหนดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยพยายามจำกัดไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
และทำไม 1.5 องศาเซลเซียสถึงมีความหมาย เพราะทุก ๆ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิมีความสำคัญ เนื่องจากยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดการปะการังฟอกขาว รวมถึงยังเกิดความรุนแรงของคลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วมและพายุที่รุนแรง ซึ่งถ้าหากอุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเมื่อไร สภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั่วโลกแน่นอน ซึ่งล่าสุดก็มีข้อมูลที่น่าตกใจ ว่า นักวิทยาศาสตร์ของโครงการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (C3S) แห่งสหภาพยุโรป หรือ อียู บอกว่า ปี 2024 นี้จะเป็นปีแรกที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมทะลุเกณฑ์ข้อตกลงปารีส ทำให้ปี 2024 จะกลายเป็นปีที่อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์แซงหน้าปี 2023 ที่ผ่านมา ซึงหลายฝ่ายระบุว่า ไม่แปลกใจที่โลกมาถึงจุดนี้ พร้อมเรียกร้องให้ COP29 ออกมาตรการให้รัฐภาคี ลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างจริงจัง
ซึ่งการประชุม COP29 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังที่เราจะได้เห็นนานาประเทศทั่วโลกร่วมมือกัน ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้ครบทุกมิติ และสำหรับการประชุม COPครั้งที่ 30 จะจัดขึ้นอีกครั้ง ในปีหน้าที่เมืองบาเล็ม ประเทศบราซิล
ข่าวแนะนำ