"แม่สาย" เสี่ยงดินถล่มได้เรื่อยๆ ในอนาคตอาจรุนแรงขึ้นอีก นักวิชาการแนะย้ายประชาชนออก
นักวิชาการด้านภัยพิบัติ ระบุว่า ไทยมีผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มราว 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทับซ้อน เสนอแนวทางแก้ปัญหา จัดการน้ำผิวดินและใต้ดินให้กับชุมชนพื้นที่เสี่ยง
ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนา "ถอดรหัสวิกฤตน้ำท่วมดินโคลนถล่ม: บทเรียนที่ต้องจดจำ" เพื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของข้อมูลน้ำ สาเหตุของภัยพิบัติ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
“ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ณัฐ มาแจ้ง” ภาควิชาทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยถึงเหตุอุทกภัยใหญ่พื้นภาคเหนือ อย่างที่ อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย ว่ามวลน้ำที่ไหลมาเป็นมวลน้ำจากประเทศเมียนมาร้อยละ 54 มากกว่ามวลน้ำในประเทศ มาจากปริมาณฝนที่ตกหนัก โดยไม่สามารถตรวจวัดน้ำบริเวณชายแดนได้ ขณะที่พื้นที่เชียงใหม่ ที่เกิดอุทกภัยจากฝนตกหนักสุดในรอบ 70ปี น้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น
จุดที่น่าสังเกตุ คือ มวลน้ำที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่สูงกว่าปี 2554 ประมาณ 56 เซนติเมตร และมีอัตราการระบายช้าลง จากการวิเคราะห์ มองว่า ภาคเหนือมีกายภาพลำน้ำที่เปลี่ยนไปจากอดีต พื้นที่ป่าไม้ลดน้อยลง รวมถึงมีการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น ทางด้านการเกษตรกรรมและการขยายพื้นที่อยู่อาศัย ทั้งในเขตเมืองและพื้นที่สูง
สอดคล้องกับ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า เหตุการณ์ดินโคลนถล่มเป็นกระบวนการชะล้างของธรรมชาติที่มาจากอิทธิพลของฝนโดยมนุษย์ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและเปราะบางที่ไม่มีโครงสร้างในการป้องกัน
ปัจจุบันพื้นที่สูงในประเทศไทยเป็นจุดหนึ่งที่เสี่ยงกับการเกิดดินโคลนถล่ม โดยปัจจบุันในไทยมีคนกว่า 1 ล้านคนอยู่ในพื้นที่ลาดชันสูงที่เสี่ยงเกิดภัยพิบัติ เนื่องจากการตัดพื้นที่ไหล่เขาเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ที่เร่งให้เกิดภัยพิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ทับซ้อน และอยู่อาศัยมานาน การจัดการที่ดีของพื้นที่สูงลักษณะดังกล่าว คือ จัดการน้ำผิวดินและใต้ดิน วิธีการระบายน้ำออกจากดินจะเป็นวิธีป้องกันเหตุแลนด์สไลด์ เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ขณะเดียวกันในพื้นที่เขตเมือง ได้ยกตัวอย่างพื้นที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่มีการสะสมของตะกอนดินจากภูเขา จากการวิจัย บ่งชี้ว่า ชั้นดินเป็นหลักฐาน ระบุได้ว่า แม่สาย เกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มเกิดซ้ำหลายครั้งและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมองว่าไม่ควรอยู่อาศัย และควรมีการย้ายไปอยู่พื้นที่ใหม่ที่มีการออกแบบผังเมืองที่เหมาะสม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ยังเสนอทางออกในการจัดการภัยในพื้นที่ทับซ้อน ทั้งทับซ้อนทางกฎหมายและภัยพิบัติ คือ การทำข้อตกลงชุมชน เป็นแนวทางป้องกันให้คนในท้องถิ่นสามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ และได้ผลดีควรดำเนินการควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย
ข่าวแนะนำ