TNN “แอมะซอน” แล้งรุนแรง แม่น้ำแห้งเหือดเดินเรือไม่ได้

TNN

Earth

“แอมะซอน” แล้งรุนแรง แม่น้ำแห้งเหือดเดินเรือไม่ได้

“แอมะซอน” แล้งรุนแรง แม่น้ำแห้งเหือดเดินเรือไม่ได้

ปีนี้หนึ่งในประเทศที่เผชิญกับภัยแล้งรุนแรง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ บราซิล โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำแอมะซอน


ภัยแล้งในแอมะซอนปีนี้ เกิดจากปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์ เริ่มจาก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้น ภูมิภาคที่เคยชุ่มชื้นกลับประสบปัญหาภัยแล้งบ่อยขึ้น ระดับน้ำในแม่น้ำลดลงอย่างรุนแรง


การทำลายป่า (Deforestation) การตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่ในแอมะซอนส่งผลให้ระบบนิเวศที่อาศัยการหมุนเวียนของน้ำและความชื้นจากป่าถูกทำลาย ทำให้ฝนตกน้อยลง และการฟื้นตัวของความชุ่มชื้นในระบบนิเวศช้าลง


การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน (Land Use Changes) การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ทำให้ดินสูญเสียความชุ่มชื้น 

และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ความชื้นในดินและพืชพรรณลดลง ส่งผลให้สภาพป่าแห้งแล้งง่ายขึ้น


อย่างเช่น ทะเลสาบปูราเกควารา (Lake Puraquequara) ที่ตั้งอยู่ในรัฐอามาโซนัส (Amazonas) ประเทศบราซิล อยู่ใกล้เมืองมาเนาส์ (Manaus) ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคแอมะซอน ทะเลสาบนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่สำคัญในลุ่มน้ำแอมะซอน และมักใช้เป็นเส้นทางสัญจรและแหล่งประมงของชุมชนท้องถิ่น 


แต่ตอนนี้ชาวประมงต้องประสบปัญหาในการใช้เรือเดินทาง เนื่องจากเกิดภัยแล้งรุนแรงติดต่อกันเป็นปีที่สอง ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า การใช้เรือแคนูในการเดินทางเริ่มยากขึ้น

แม่น้ำรีโอเนโกร (Rio Negro) ซึ่งเป็นหนึ่งในแควหลักของแม่น้ำแอมะซอน มีระดับน้ำอยู่ที่ 15.5 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ 12.7 เมตรในเดือนตุลาคม 2023 ส่งผลให้ป่าฝนเขตร้อนแห้งแล้ง ก่อให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ และชุมชนที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำต้องติดอยู่เนื่องจากการขนส่งผ่านเรือทำได้ยากขึ้นเพราะระดับน้ำที่ตื้นเกินไป


คนในชุมชน บอกว่าปกติเธอจะข้ามทะเลสาบโดยเรือไปซื้อของในเมืองหลวง แต่ตอนนี้ระดับน้ำในทะเลสาบเหลือเพียงไม่กี่เซนติเมตร เธอต้องเดินไปตลอดทางแทน


นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศชี้ว่า เหตุการณ์แบบนี้มีโอกาสเกิดมากขึ้นถึง 5 เท่าในหลายพื้นที่ทั่วโลก ถ้าโลกของเรายังร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อวิถีชีวิตและผลผลิตทางเกษตร รวมถึงสุขภาพของเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง