TNN เตือนฝุ่น PM2.5 กลับมา คาดเกิดนานและรุนแรงกว่าปกติ

TNN

Earth

เตือนฝุ่น PM2.5 กลับมา คาดเกิดนานและรุนแรงกว่าปกติ

เตือนฝุ่น PM2.5 กลับมา คาดเกิดนานและรุนแรงกว่าปกติ

"ดร.สนธิ" เตือนฤดูหนาวนี้ "ฝุ่น PM 2.5" อาจรุนแรงและเกิดนานมากกว่าปกติจากหลายปัจจัย

สาเหตุแรกคือ มวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงจากแผ่นดินใหญ่ ได้แผ่ลงมาที่ประเทศไทยแรงมากขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป มวลอากาศเย็นจะกดทับเหนือพื้นผิวดิน ประกอบกับมีความชื้นในอากาศค่อนข้างมากจึงทำให้พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน อากาศปิดการระบายอากาศในแนวดิ่งทำได้ยากขึ้น หรือเกิดภาวะ Inversion และเกิดภาวะ Fumigation หรือการปกคลุมของPM2.5 เหนือผิวดิน ปีนี้อากาศจะหนาวมากขึ้นและนานขึ้น ดังนั้นฝุ่น PM2.5 อาจจะมีค่าสูงขึ้น


ปัจจัยที่สอง คือ ประเทศไทยได้ประกาศเปลี่ยนค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพจากเดิม 50 มคก.ต่อลบ.ม.เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับผลกระทบต่อสุขภาพขององค์การอนามัยโลกมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ดังนั้นหากฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม.มีค่าระหว่าง 37.6 ถึง 50 มคก./ลบ.ม. จะมีค่าเป็นสีส้มคือมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน (เดิมสีส้มจะมีค่าฝุ่นPM2.5 ตั้งแต่ 50 มคก.ต่อลบ.ม.ขึ้นไป)


ปัจจัยที่ 3 คือ แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น เช่น ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร มีรถเครื่องยนต์ดีเซลจดทะเบียนอยู่ประมาณ 2.9 ล้านคันจากที่จดทะเบียนในปี 2566 ทั่วประเทศไทยทั้งหมด12.625 ล้านคัน รถยนต์เหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลชนิดธรรมดา ซึ่งมีค่ากำมะถันสูงปล่อยฝุ่นออกมาได้ง่าย ส่วนการใช้น้ำมันยูโร 5 ยังใช้กันน้อยมากเนื่องจากมีราคาแพงมากกว่า 40 บาทต่อลิตร นอกจากนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกือบ 6,000 แห่ง บางส่วนใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซล รวมทั้งยังมีไซส์ก่อสร้างในเขตกทม.มากขึ้น ส่วนในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน ปีนี้มีโรงงานน้ำตาล 57 แห่งมีการปลูกอ้อยมากกว่า 9.7 ล้านไร่คิดเป็นปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ประมาณ 76.0 ถึง 78.0 ล้านตัน อาจมีการเผาไร่อ้อยเพื่อนำอ้อยไฟไหม้ เข้าโรงน้ำตาลให้ทันก่อนโรงงานปิดหีบอ้อยในช่วงต้นเดือนเมษายน ขณะที่ในพื้นที่ภาคเหนือมีการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูงปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 6.7 ล้านไร่ และอาจจะเกิดการเผาตอซังของข้าวโพดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2568 รวมทั้งอาจมีการเผาตอซังฟางข้าวในพื้นที่ภาคกลางในช่วงประมาณเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม 2568 ด้วย


ปัจจัยที่ 4  คือ เกิดการเผาไหม้ป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติรวมทั้งการเกิดไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูแล้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น 2.5 ที่สำคัญ

ปัจจัยที่ 5 คือ ฝุ่นข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเกิดจากการไฟไหม้ป่าและการเผาตอซังฟางข้าวในประเทศเพื่อนบ้านและจะพัดเข้ามาสู่ประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคอีสานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี


ส่วนร่างพรบ.อากาศสะอาดซึ่งเป็นความหวังของประชาชนในการที่จะใช้เป็นเครื่องที่สำคัญในการควบคุมแหล่งกำเนิดและลดปริมาณฝุ่น PM2.5 รวมทั้งฝุ่นข้ามแดน ซึ่งรัฐสภาได้มีมติรับในหลักการแล้วเมื่อต้นเดือนมกราคม 2567แต่ผ่านมา 10 เดือนแล้วก็ยังไม่ออกมาเป็นกฎหมายที่จะใช้ในการจัดการฝุ่นPM2.5 ซึ่งคาดว่าคงใช้ไม่ทันในปีนี้แน่นอน ทำให้ปีนี้มาตรการลดฝุ่น PM2.5ของรัฐบาลคงไม่แตกต่างจากปีก่อน

ขณะที่นโยบายและมาตรการในการป้องกัน ควบคุมและลดแหล่งกำเนิดของฝุ่นPM2.5 ปีนี้ของรัฐบาลยังไม่ชัดเจน ยังไม่เห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร


ที่มา: Sonthi Kotchawat

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง