TNN ฝุ่นพิษปกคลุม "นิวเดลี" อินเดีย คุณภาพอากาศเข้าขั้น "อันตราย"

TNN

Earth

ฝุ่นพิษปกคลุม "นิวเดลี" อินเดีย คุณภาพอากาศเข้าขั้น "อันตราย"

ฝุ่นพิษปกคลุม นิวเดลี อินเดีย คุณภาพอากาศเข้าขั้น อันตราย

ทางการท้องถิ่นกรุงนิวเดลี นครหลวงของ “อินเดีย” กำลังเร่งใช้มาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศในกรุงนิวเดลี ที่เวลานี้ถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นควันพิษและกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

สภาพอากาศในกรุงนิวเดลีเวลานี้อยู่ในสภาพขมุกขมัวจากหมอกควันพิษปกคลุมหนาทึบตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้ทางการต้องเร่งหามาตรการควบคุมมลพิษ โดยมุขมนตรีแห่งเดลีบอกว่า ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาถึง 99 ชุดเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรการควบคุมฝุ่นละอองตามไซต์งานก่อสร้างต่าง ๆ ทั่วกรุงนิวเดลี รวมทั้งเริ่มนำรถน้ำมาฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อดับฝุ่นจำนวนกว่า 325 คัน เพื่อลดปริมาณฝุ่นควันพิษซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว


แม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นกรุงนิวเดลีจะมีมาตรการควบคุมมลพิษข้างต้น แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมองว่า มาตรการเท่าที่มียังไม่เพียงพอตราบใดที่ยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการเข้มงวดเหล่านี้ตลอดทั้งปี เพราะในความเป็นจริงนั้น โครงการก่อสร้างต่าง ๆ มีอยู่ตลอดทั้งปีไม่ใช่เฉพาะในช่วงนี้ โดยเฉพาะการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของรัฐบาล


เวลานี้ ดัชนีคุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลีพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับเกือบ 400 ซึ่งถือเป็นระดับอันตรายต่อสุขภาพ ชาวเมืองเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและระคายเคืองบริเวณดวงตา นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนในกรุงนิวเดลีเมื่อวันอาทิตย์ต่างก็บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ส่งผลกระทบต่อการวิ่ง 


คาดว่าปัญหามลพิษในอากาศจะยิ่งเลวร้ายลงอีกหลังจากนี้ เพราะใกล้จะถึง “เทศกาลดิวาลี” หรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง ซึ่งจะมีการจุดธูปเทียน จุด ประทัด จุดพลุและดอกไม้ไฟจำนวนมาก เมื่อปีที่แล้วกลุ่ม IQAir เคยจัดให้กรุงนิวเดลีเป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษย่ำแย่ที่สุดในโลก


ไม่เพียงแต่ต้องเผชิญมลพิษทางอากาศอย่างเดียวเท่านั้น อินเดียยังต้องเผชิญกับมลพิษทางน้ำ โดยเฉพาะ “แม่น้ำยมุนา” หนึ่งในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูที่ไหลผ่านกลางกรุงนิวเดลี ที่เวลานี้เต็มไปด้วยโฟมพิษลอยเต็มแม่น้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานโดยไม่ผ่านการบำบัด 


ล่าสุด นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถึงกับประกาศว่า “แม่น้ำยมุนา” ตายสนิทแล้ว โดยน้ำเป็นสีดำตลอดทั้งปีและมีโฟมพิษปกคลุมไปทั่วจนสัตว์น้ำไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ปัญหานี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตอกย้ำว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลขาดการแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง