TNN "ดร.สนธิ" เตือนคนไทยเตรียมรับมือ ปรากฏการณ์ "เมฆระเบิด" ทำฝนกระหน่ำเหมือนที่อุทัยธานี

TNN

Earth

"ดร.สนธิ" เตือนคนไทยเตรียมรับมือ ปรากฏการณ์ "เมฆระเบิด" ทำฝนกระหน่ำเหมือนที่อุทัยธานี

ดร.สนธิ เตือนคนไทยเตรียมรับมือ ปรากฏการณ์ เมฆระเบิด ทำฝนกระหน่ำเหมือนที่อุทัยธานี

"ดร.สนธิ" ชี้ "อุทัยธานี" ฝนตกหนัก-น้ำป่าไหลหลาก เกิดจากปรากฏการณ์ "เมฆระเบิด" และ "Rain Bomb" คาดจะเกิดขึ้นบ่อยช่วงฤดูฝน

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสเกี่ยวกับ เมฆระเบิด (Cloudburst) ทำให้เกิดฝนกระหน่ำ(Rain Bomb) หนัก คาดจะเกิดขึ้นบ่อยที่ประเทศไทยในทุกฤดูฝน


กรณีที่เกิดฝนตกอย่างหนัก 4 ชั่วโมงริมเชิงเขา เกิดน้ำป่าไหลหลากน้ำท่วมหนักในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เกิดความเสียหายมหาศาลอาจเกิดมาจากปรากฎการณ์ Cloudburst และ Rain Bomb


สภาวะการเกิดเมฆระเบิด (Cloudburst) นั้น ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ใกล้เชิงเขาในกรณีที่อากาศบนพื้นดินและอากาศบนยอดเขามีอุณหภูมิที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้อากาศร้อนหรือมวลความกดอากาศต่ำที่อยู่ใกล้เชิงเขาจะพัดเคลื่อนที่ขึ้นในแนวดิ่งไปยังยอดเขาซึ่งมีอากาศเย็นกว่าอย่างกะทันหัน  ทำให้สภาพภูมิอากาศใกล้พื้นโลกเย็นลงอย่างรวดเร็ว เกิดความชื้นสัมพัทธ์สูงขึ้นและความชื้นรวมตัวกันเป็นเมฆฝนมากขึ้น นอกจากนี้ลมที่พัดในแนวราบได้พัดพานำเมฆที่กระจัดกระจายมารวมกันอยู่ที่เชิงเขารวมตัวกันเป็นเมฆก้อนใหญ่ที่มีความชื้นสูง เมื่อมีมวลอากาศเย็นจากมหาสมุทรพัดหรือจากแผ่นดินใหญ่พัดเข้ามาปะทะจึงทำให้เกิดปรากฎการณ์เมฆระเบิดเกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ และกลายเป็นฝนที่ตกลงมากระหน่ำหรือ Rain Bomb อาจให้เกิดน้ำท่วมอย่างกะทันหันได้


และจากนี้เป็นต้นไปการเกิด “เมฆระเบิด” และการเกิดฝนตกกระหน่ำอย่างรุนแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จะเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศต่างกันเช่น เป็นภูเขาสูงที่มีป่าไม้หนาแน่นหรือในเมืองที่มีตึกและอาคารค่อนข้างสูงจะทำ ให้อุณหภูมิระหว่างพื้นดินกับระดับความสูงขึ้นไปเกิดความแตกต่างกันมากขึ้น 


การเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวจะคาดการณ์ได้ค่อนข้างยากเนื่องจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทำให้เกิดอากาศแปรปรวนและทำให้น้ำในมหาสมุทรและทะเลระเหยขึ้นไปรวมกันเป็นความชื้นในอากาศมากกว่าปกติ 


นอกจากนี้ยังทำให้อุณหภูมิเกิดความแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างระดับพื้นดินและระดับที่สูงขึ้นไป ดังนั้นการเกิดสภาวะเมฆระเบิดและฝนตกกระหน่ำจึงคาดเดาได้ยากแต่มักจะเกิดในช่วงที่มีร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพัดผ่านและช่วงที่มวลอากาศเย็นพัดจากแผ่นดินใหญ่หรือทะเลมหาสมุทรมาปะทะ


อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงเดือนพฤศจิกายน มวลความกดอากาศสูงหรืออากาศเย็นจากแผ่นดินใหญ่จะพัดลงมารุนแรงมากขึ้นและร่องมรสุมจะเคลื่อนที่ลงสู่ภาคใต้ตอนล่าง จะทำให้การเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวลดน้อยลง แต่มวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาซึ่งเป็นความกดอากาศสูงจะกดทับอากาศบนพื้นโลกไว้ ทำให้การระบายอากาศจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆบนพื้นโลกในแนวดิ่งจะระบายได้น้อยลง ปัญหา ฝุ่น PM2.5 จะเริ่มกลับมา


ที่มา: Sonthi Kotchawat

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง