TNN เห็นแล้วอย่าเผลอกินนะ! ไทยค้นพบ "ตัวกล้วยตาก" ทากชนิดใหม่ของโลก

TNN

Earth

เห็นแล้วอย่าเผลอกินนะ! ไทยค้นพบ "ตัวกล้วยตาก" ทากชนิดใหม่ของโลก

เห็นแล้วอย่าเผลอกินนะ! ไทยค้นพบ ตัวกล้วยตาก ทากชนิดใหม่ของโลก

นักวิจัยไทยค้นพบ "ตัวกล้วยตาก" หรือ "ทากเปลือยบก" ทากชนิดใหม่ของโลก

หน่วยปฏิบัติการซิสเทมาติคส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านเพจ  Animal Systematics Research Unit โดยระบุว่า  “งานวิจัยใหม่: ตัวกล้วยตากชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิดจากประเทศไทย”


ตัวกล้วยตาก หรือทากเปลือยบก (land slug) เป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มหอยฝาเดียว แต่ร่างกายมีการลดรูปเปลือกไปจนหมด ไม่หลงเหลือเปลือกให้เห็นอีกเลย สัตว์กลุ่มนี้มีชื่อเรียกที่แตกต่างในหลายภาคของประเทศไทย เช่น คนในภาคอีสานเรียกว่าแมงลิ้นหมาหรือตัวลิ้นหมา คนในภาคเหนือเรียกว่าขี้ตืกฟ้า คนในภาคใต้เรียกว่าทากฟ้า และคนในภาคกลางเรียกว่าตัวกล้วยตากหรือทากดิน มักพบอาศัยตามกองใบไม้ผุพัง ใต้ขอนไม้ หรือบริเวณที่มีวัตถุปิดคลุมหน้าดิน ทั้งในแหล่งธรรมชาติและแหล่งที่ถูกรบกวนโดยมนุษย์


คณะนักวิจัยนำโดยนางสาวบวรลักษณ์ มิตรเชื้อชาติ นิสิตระดับปริญญาเอกภายใต้การดูแลของ ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หน่วยปฏิบัติการซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาตัวกล้วยตากในสกุล 𝑉𝑎𝑙𝑖𝑔𝑢𝑛𝑎 ทั้งหมดในประเทศไทย โดยปัจจุบันได้รายงานทั้งหมด 3 ชนิด มีชนิด 𝑉𝑎𝑙𝑖𝑔𝑢𝑛𝑎 𝑠𝑖𝑎𝑚𝑒𝑛𝑠𝑖𝑠 (Martens, 1867) หรือตัวกล้วยตากสยาม มีการกระจายทั่วประเทศไทย รวมถึงในประเทศเมียนมาร์และลาว 


นอกจากนี้เนื่องจากหน้าตาภายนอกของตัวกล้วยตากมีความคล้ายคลึงกันมาก จึงต้องอาศัยข้อมูลอวัยวะภายในและแผนภูมิต้นไม้เชิงวิวัฒนาการจากข้อมูลดีเอ็นเอในการแยกชนิด ทำให้ค้นพบตัวกล้วยตากชนิดใหม่อีก 2 ชนิด ดังนี้


1.    𝑉𝑎𝑙𝑖𝑔𝑢𝑛𝑎 𝑠𝑒𝑚𝑖𝑐𝑒𝑟𝑖𝑛𝑎 Mitchueachart & Panha, 2024 ตัวกล้วยตากหลังเกลี้ยง พบได้ที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย และยังพบได้ในประเทศกัมพูชาและเมียนมาร์

2.    𝑉𝑎𝑙𝑖𝑔𝑢𝑛𝑎 𝑐𝑟𝑖𝑠𝑝𝑎 Mitchueachart & Panha, 2024 ตัวกล้วยตากถ้ำขมิ้น พบได้แค่ที่ถ้ำขมิ้น จ.สุราษฎร์ธานี


งานวิจัยนี้ได้เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับทากเปลือยบกในวงศ์ Veronicellidae โดยชี้ให้เห็นว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหลากหลายทางสัณฐานวิทยาและพันธุกรรมของทากเปลือยบกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ได้รายชื่อชนิดที่ครอบคลุมใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพต่อไปได้ในอนาคต


ที่มา: Animal Systematics Research Unit, CU

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง