การตัดไม้ทำลายป่า” สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยและดินถล่มในภาคเหนือ เพราะไม่มีพื้นที่ซับน้ำ พร้อมชูข้อกฎหมายการทำเกษตรกรรมบนภูเขา หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลพื้นที่ยินยอมได้อย่างไร?
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสเกี่ยวกับสาเหตุน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือปีนี้ โดยระบุว่า “การตัดไม้ทำลายป่า” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยและดินถล่ม
ระบุว่า ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ในปี2566 ประมาณ
37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 ถึง 171,143.04 ไร่ โดยการตัดไม้ทำลายป่าเปลี่ยนภูเขามาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปีละเกือบสองแสนไร่ สาเหตุสำคัญของอุทกภัยและดินถล่มครั้งใหญ่ของ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา ในปี 2567 สาเหตุฝนตกหนักกว่าเดิมแต่พื้นที่ซับน้ำไม่มี ฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น
นอกจากนี้ยังระบุเกี่ยวกับการปลูกพืช ทำเกษตรกรรมบนภูเขาทำได้อย่างไร? กฎหมายชัดเจนแต่ปล่อยปะละเลย สาเหตุหลักของการทำให้เกิดน้ำท่วมภาคเหนือรุนแรงในปีนี้
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 เห็นชอบด้วยกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้พื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ย 35% ขึ้นไปเป็นพื้นที่ป่าไม้โดยไม่อนุญาตให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ย 35 % ขึ้นไป เป็นพื้นที่ที่มีการชะล้างหน้าดินสูงไม่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม สมควรเป็นพื้นที่ป่าไม้และไม่อนุญาตให้มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แต่ไม่รวมถึงที่ดินซึ่งผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายที่ดินคือครอบครองมาก่อนอย่างถูกกฎหมายก่อนวันที่ 1 ธ.ค. 2497 หรือมีหลักฐานครอบครอง เช่น นส 3 ก หรือ สค.1
นอกจากนี้กฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ14 (2) กำหนดให้พื้นที่เขา ที่ภูเขาและปริมณฑลรอบที่เขาหรือภูเขาระยะ 40 เมตร เป็นพื้นที่ต้องห้ามไม่ให้ออกโฉนดที่ดิน แต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน( ได้มาก่อน 1 ธ.ค. 2497)
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 กำหนดนิยามของ “เขา”หมายถึง ส่วนของพื้นที่ที่สูงจากบริเวณรอบ ๆ (Surrounding) น้อยกว่า 600 เมตร ปรากฎในแผนที่ว่าเป็นเขา พื้นลาดชันร้อยละ 20- 35 และที่ภูเขา หมายถึงส่วนของพื้นที่ที่สูงจากบริเวณรอบๆ (Surrounding) ตั้งแต่ 600 เมตร ขึ้นไปพื้นที่ลาดชันมากกว่าร้อยละ 35
ผู้บุกรุกป่าที่ถูกจับในกรณีแผ่วถ้างหรือเผาป่า เพื่อที่จะได้ครอบครองที่ดินนั้นในเขตอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานต่าง ๆ ของประเทศไทยจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี หรือปรับสูงถึง 2 ล้านบาท นอกจากนี้ห้ามยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัย ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพ โดยมีบทลงโทษ คือ จำคุก 1 – 10 ปี และปรับ 20,000 – 200,000 บาท
จากกฎหมายดังกล่าว ประชาชนได้บุกรุกภูเขาไปปลูกพืช ทำเกษตรกรรมได้อย่างไร? หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลพื้นที่ยินยอมได้อย่างไร? สุดท้าย ฝนตกหนัก น้ำป่าจากภูเขาไหลเชี่ยวกราก พัดพาดินโคลนจากภูเขามาถล่มเมืองในพื้นที่ราบ ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง เป็นต้น ในปี 2567 เพราะทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โค่นป่า ปลูกพืชล้มลุกบนภูเขาทำผิดกฎหมายแต่เจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลย
ที่มา: Sonthi Kotchawat