ไขคำตอบ “สีของดาวตก” บอกอะไรได้บ้าง?
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้ให้คำอธิบายถึงเรื่อง “สีของดาวตก” ทำไมถึงมีสีแตกต่างกัน โดยจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ
จากปรากฏการณ์ “ลูกไฟสีเขียว” ที่ปราฏเหนือท้องฟ้าเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น.วันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา มองเห็นได้จากหลายพื้นที่นั้นพบว่าเป็นดาวตก (Meteorite) ที่มีขนาดใหญ่ และสว่างมาก ความสว่างใกล้เคียงกับดาวศุกร์ จึงสันนิษฐานว่าเป็นดาวตกชนิดลูกไฟ (Fireball) โดยดาวตกเกิดจากการที่วัตถุท้องฟ้าขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับชั้นบรรยากาศ ที่ระดับความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ยิ่งวัตถุมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็มากตามไปด้วย
นอกจากนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังได้ไขข้อสงสัยเรื่อง “สีของดาว” ว่า “ดาวตก” เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน
สีของดาวตก มาจากแสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ แสงสีออกโทนม่วง เกิดจากอะตอมแคลเซียม ส่วนแสงสีโทนฟ้า เกิดจากอะตอมเหล็ก ส่วนอะตอมแมกนีเซียมและนิกเกิลจะให้แสงสีฟ้าเขียว และดาวตกที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็เป็นแสงสีเขียวซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่ามีส่วนประกอบของธาตุนิกเกิล ซึ่งเป็นธาตุโลหะ ส่วนอะตอมโซเดียม ให้แสงสีส้มเหลือง
ขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลก จะมีอะตอมของออกซิเจน และไนโตรเจน เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง ดังนั้น สีของดาวตกจึงขึ้นอยู่กับการเปล่งแสงขององค์ประกอบแต่ละชนิด และการเปล่งแสงของอากาศโดยรอบตัว ดาวตกที่ร้อนจัดซึ่งมักจะให้แสงสีแดงและสีเขียวเป็นหลักขึ้นอยู่กับความสูงของพื้นโลก
ภาพ /ที่มา: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์
ข่าวแนะนำ