TNN เตือนภัย "ภาวะฝนกรด" ในกทม. แนะหลีกเลี่ยงการตากฝน และไม่ควรดื่มน้ำฝนที่ตกลงมาใหม่

TNN

Earth

เตือนภัย "ภาวะฝนกรด" ในกทม. แนะหลีกเลี่ยงการตากฝน และไม่ควรดื่มน้ำฝนที่ตกลงมาใหม่

เตือนภัย ภาวะฝนกรด ในกทม. แนะหลีกเลี่ยงการตากฝน และไม่ควรดื่มน้ำฝนที่ตกลงมาใหม่

วศ.อว. เตือน “ภาวะฝนกรด” กระทบสุขภาพ หลังโซเชียลแชร์ภาพถนนเป็นฟองสีขาวหลังฝนตก แนะหลีกเลี่ยงการตากฝน และไม่ควรรองรับน้ำฝนในช่วงแรก งดบริโภคน้ำฝนที่ตกลงมาใหม่ เนื่องจากอันตรายต่อสุขภาพ

นพ. รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า ตามที่มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล สื่อโซเชียลได้โพสต์ภาพฟองสีขาวที่บริเวณต้นไม้ริมทางเท้าภายหลังฝนตก โดย กรณีฟองที่เกิดริมทางเท้านั้นสามารถอธิบายได้ว่า เป็นฟองอากาศที่เกิดขึ้นจากอากาศที่ถูกดักจับโดยของเหลวที่มีแรงตึงผิวสูงมาก โดยการเกิดฟองอากาศจะประกอบด้วย (1) ของเหลว คือ ฝนกรด (2) อากาศที่แทรกอยู่ในรูพรุนขนาดเล็กของพื้นดินหรือพื้นยางมะตอย (3) สารลดแรงตึงผิว บนพื้นผิวถนน และบรรยากาศ ประกอบไปด้วยสารจำพวกน้ำมัน (โดยเฉพาะพวกน้ำมันปิโตรเลียม) เช่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันจากสารทำความเย็น น้ำมันเบรค และ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากฝนและมลพิษ ในรูปของฝนกรดนั่นเอง

                     


ปรากฏการณ์ฝนกรดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันมีสาเหตุสำคัญมาจากกิจกรรมของมนุษย์โดยตรง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะการเผาไหม้ถ่านหินในอุตสาหกรรมไฟฟ้า การปล่อยควันพิษและของเสียจากโรงงานต่างๆ รวมไปถึงมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โดยกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมันดังกล่าว มีการปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2¬) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) รวมถึงฝุ่นละออง ออกสู่บรรยากาศ และทำปฏิกริยากับไอน้ำหรือน้ำฝน เปลี่ยนรูปไปเป็นกรดซัลฟิวริก (H2SO4) กรดไนตริก (HNO3) และ กรดชนิดอื่นๆ ตกลงมาบนพื้นผิวโลก ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ผืนดิน ป่าไม้และสิ่งก่อสร้างอย่างมาก มากไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรงอีกด้วย นั่นคือ ฝนกรดสร้างความระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากการบริโภคน้ำฝนที่เพิ่งตกลงมาใหม่ๆ อาจเสี่ยงต่อการดื่มน้ำที่มีสภาวะเป็นกรดและมีสารพิษปนเปื้อน



อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ แนะนำประชาชนควรหลีกเลี่ยงการตากฝน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนัง หากโดนฝนเมื่อกลับบ้านควรรีบอาบน้ำ สระผมเพื่อชำระสิ่งสกปรกแล้วเช็ดตัวเป่าผมให้แห้ง นอกจากนั้นไม่ควรรองรับน้ำฝนที่ตกในช่วงแรกๆ เพื่อการอุปโภคและบริโภค ควรปล่อยให้ฝนตกสักระยะหนึ่งก่อนเพื่อชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศและหลังคาให้สะอาดเสียก่อน



การแก้ไขการเกิดฝนกรดอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การลดจำนวนปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตร เจนออกไซด์ที่จะเข้าสู่บรรยากาศจากโรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปและยานพาหนะ โดยทางโรงงานจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการเกิดก๊าซมลพิษเหล่านี้ โดยการจัดให้มีอุปกรณ์ในการดักจับอย่างถูกต้องนอกจากนั้นการแก้ไขที่ต้นตอนั่นคือ ตัวเราเอง โดยเราสามารถช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าให้เกิดการเผาไหม้น้อยที่สุดได้ เช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยลง ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ใช้รถยนต์ให้น้อยลง เพียงแค่เราร่วมมือกันคนละนิด ไม่ก่อให้เกิดการผลิตของเสียและการเผาไหม้ การเกิดฝนกรดก็จะลดน้อยลงไปโดยปริยาย



ในปัจจุบันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสนใจและร่วมกันแก้ไขปัญหาฝนกรด พบว่านโยบายภาครัฐของหลายกระทรวงให้ความสำคัญในการลดมลพิษที่ก่อให้เกิดฝนกรด อาทิ กระทรวง อว. ส่งเสริมการสร้างงานวิจัยเพื่อลดมลพิษทางอากาศ เช่น การพัฒนาเครื่องดักจับก๊าซมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้และที่เจือปนอยู่ในก๊าซชีวภาพ ตลอดจนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อตรวจวัดสภาพมลพิษทางอากาศของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาตรการบังคับใช้มาตรฐาน Euro5 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดแทนการเผาอ้อยก่อนตัด ผ่านการสมทบจ่ายค่าแรงงานให้แก่เกษตรกรที่ตัดอ้อยสด กระทรวงพลังงาน ได้ออกนโยบาย 3C หรือ Clean-Care-Change โดย CLEAN-ยกระดับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงโดยปรับคุณภาพน้ำมันจาก Euro4 ไป Euro5 ซึ่งจะมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm, CARE-ส่งเสริมการเข้าศูนย์บริการเพื่อดูแลเครื่องยนต์, และ CHANGE-สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการการปล่อยก๊าซมลพิษ กระทรวงคมนาคม มีนโยบายกำหนดมาตรการตรวจสภาพรถยนต์ให้มีเกณฑ์ที่ปลอดภัยมากขึ้นและลดการปล่อยมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการจัดการไฟในป่า ไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ในส่วนของภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดการใช้งานพาหนะส่วนตัว หมั่นตรวจสอบสภาพพาหนะส่วนตัว ลดการเผาไหม้ในที่โล่ง เป็นต้น 



กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้เกิดการนำข้อมูลและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน


 ที่มา: กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว.

ข่าวแนะนำ