“คลื่นกระแสลมตะวันตก” อีกหนึ่งตัวการทำเหนือ-อีสานอากาศเย็น
ในบางครั้งเมื่อความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอ่อนกำลังลงไป แต่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนยังมีอากาศเย็นต่อเนื่อง เป็นผลมาจาก “คลื่นกระแสลมตะวันตก” ที่เคลื่อนเข้าปกคลุม
ในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ปัจจัยหลักที่ทำให้อากาศเย็นลงนั้นเกิดจากความกดอากาศสูง โดยความกดอากาศสูงนั้นจะแผ่ลงมาจากประเทศจีน และส่วนใหญ่จะปกคลุมอยู่บริเวณภาคเหนือและภาคอีสาน ถ้าหากช่วงไหนความกดอากาศสูงมีกำลังแรงมาก ๆ จะแผ่ลงมาได้ลึกปกคลุมถึงภาคกลางรวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย แต่ในช่วงกลางถึงปลายฤดูหนาว นอกจากความกดอากาศสูง ยังมีอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นลงนั่นก็คือ “คลื่นกระแสลมตะวันตก” โดยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่จะเป็นภาคเหนือและภาคอีสาน ในบางครั้งหากคลื่นกระแสลมตะวันตกมีกำลังแรงมากก็จะทำให้เกิดน้ำค้างแข็งตามยอดดอยและยอดภูได้ คลื่นกระแสลมตะวันตกเป็นคลื่นที่พัดมาจากเทือกเขาหิมาลัย และเคลื่อนผ่านมาทางประเทศเมียนมาร์ทางฝั่งทิศตะวันตก โดยลมตัวนี้เป็นลมระดับบน ไม่ใช่ลมระดับพื้นผิว ซึ่งจะไม่สัมผัสร่างกายของคนเหมือนกับความกดอากาศสูง แต่คลื่นกระแสลมตะวันตกนี้จะเหนี่ยวนำให้อากาศอุ่นชื้นที่ลอยอยู่บริเวณพื้นดินลอยตัวขึ้นไปด้านบน และเมื่ออากาศอุ่นชื้นมาปะทะกับอากาศเย็นด้านบน จะทำให้อากาศเกิดความแปรปรวนเกิดเป็นฝนฟ้าคะนองขึ้น บางครั้งอาจมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกได้ ซึ่งฝนฟ้าคะนองส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณด้านหน้าของคลื่น และหลังจากคลื่นเคลื่อนตัวผ่านไป อากาศด้านหลังจะจมตัว ทำให้อุณหภูมิลดลงและท้องฟ้าปลอดโปร่ง แต่ถ้าหากช่วงไหนที่ความชื้นของอากาศมีไม่เพียงพอ คลื่นกระแสลมตะวันตกก็แค่เคลื่อนผ่านไม่ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองแต่อาจจะทำให้มีแค่ลมแรงประมาณ1-2 วัน ดังนั้น ลมหนาวในบ้านเรา ไม่ได้มาจากแค่ประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังมาจากทางเทือกเขาหิมาลัย ที่มาในรูปแบบ คลื่นกระแสลมตะวันตก ได้อีกด้วยนั่นเอง
ข่าวแนะนำ