จับตา พายุหมุนเขตร้อน “โคอินุ” กรมอุตุฯชี้แจงโอกาสเคลื่อนตัวเข้าไทย?
จับตา พายุหมุนเขตร้อน “โคอินุ” กรมอุตุฯชี้แจงแล้วมีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าประเทศไทยหรือไม่?
วันนี้ ( 30 ก.ย. 66 ) กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ 'พายุหมุนเขตร้อน' กับโอกาสที่เคลื่อนตัวเข้าประเทศไทยในระยะนี้ โดยระบุว่า ศูนย์พยากรณ์อากาศยุโรประยะกลาง โดยสภาวะฝนตกขณะนี้มาจาก หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณชายฝั่งประเทศเมียนมา ทำให้ด้านตะวันตกของภาคเหนือ ยังมีฝนตกหนักบางแห่ง
สำหรับภาคอื่นๆ มีปริมาณฝนน้อยลง แต่ยังมีฝนเกิดขึ้นได้ตามแนวร่องมรสสุม คลื่นลม บริเวณอันดามันมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง แต่อ่าวไทย มีกำลังอ่อนลงบ้าง
อย่างไรก็ตามยังติดตาม พายุโซร้อน "โคอินุ" ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เป็นระยะ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า อย่าพึ่งตื่นตระหนกกับข่าวลือ เนื่องจากพายุนี้ ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงทิศทางเมื่อเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไต้หวัน ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยแต่อย่างใด
ทั้งนี้พายุโซนร้อน "โคอินุ (KOINU)" (ความหมาย "ลูกสุนัข" ตั้งชื่อโดยประเทศญี่ปุ่น ) เกิดจากพายุดีเปรสชันได้ทวีกำลังแรงขึ้น และ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางทางตะวันตกเฉียงเหนือในระยะแรก ทิศทางไปยังเกาะไต้หวัน และเคลื่อนตัวตามแนวขอบชายฝั่งของประเทศจีนมาทางเกาะไหหลำ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนตัวมาถึงประเทศเวียดนามตอนบน แต่ยังต้องติดตามเป็นระยะๆ ทิศทางยังมีการเปลี่ยนแปลงได้
สำหรับพยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน ของประเทศไทย 30 กันยายน – 6 ตุลาคม พ.ศ.2566
ในช่วงวันที่ 30 ก.ย.-2 ต.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวณเข้าสู่อ่าวไทยตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง :ในช่วงวันที่ 3-6 ต.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ข้อมูลจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา
ภาพ : AFP