“เอลนีโญ-ลานีญา” ถี่ขึ้นเกิดทุก 2 ปี ปมเหตุจาก “กัลฟ์สตรีม”
“เอลนีโญ-ลานีญา” เกิดถี่ขึ้นจากทุก 7 ปีเป็น 2 ปี คาดแปรปรวนจาก กระแสน้ำอุ่น “กัลฟ์สตรีม” อ่อนกำลัง
วันนี้ ( 22 ส.ค. 66 )นักวิชาการด้านธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา เกิดถี่ขึ้น จากเดิมทุก 7 ปี มาเป็นทุก 2 ปี สาเหตุจากธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา ละลายอย่างรวดเร็ว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัคนีวุธ จิรภิญญากุล หัวหน้าภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ปรากฏการณ์เอลนีโญ และ ลานีญา ว่า ปกติจะพบปรากฎการณ์ทั้ง 2 นี้ ในทุกๆ 7 ปี แต่ระยะหลัง ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ความถี่ของปรากฏการณ์เอลนีโญ และ ลานีญา เพิ่มถี่ขึ้น เป็นทุกๆ 2 ปี เชื่อว่า น่าจะมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
โดยเฉพาะ การที่กระแสน้ำเย็นฮัมโบลต์ ที่ไหลรอบทวีปแอนตาร์กติกา กำลังเผชิญกับการละลายของธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ และทำให้กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (Atlantic Meridional Overturning Circulation หรือ AMOC) ซึ่งเป็นสายธารหลักในมหาสมุทรแอตแลนติกอ่อนกำลังลง ทำให้พลังงานความร้อนจากที่เคยไปยังซีกโลกเหนือ กลับมาอยู่ในพื้นที่ของซีกโลกใต้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ความรุนแรงและความถี่ของปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา มีความแปรปรวนเกิดขึ้น
ทั้งนี้ จากการติดตามอุณหภูมิของมหาสมุทรแปซิฟิก พบว่า ปี 2558 เป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดถึง 43 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับอุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เข้าสู่ช่วงของปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะที่ ข้อมูลในปัจจุบัน ระบุชัดเจนว่า โลกกำลังเข้าสู่ช่วงเอลนีโญอีกครั้ง แต่ยังไม่สามารถบ่งบอกได้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าว จะกินในเวลายาวนานเพียงใด แต่หากดูจากกราฟอุณหภูมิที่ผ่านมา พบว่าปรากฏการณ์ของเอลนีโญและลานีญา จะมีความถี่ลากยาวอยู่ที่ 3 ปี
ภาพจาก : AFP