“ดร.เสรี” เตือนทั่วโลกเสี่ยงเจอภาวะสุดขีดสภาพอากาศ
จะไม่มีประเทศไหนที่จะหลุดรอดไปจากภัยคุกคามด้านสภาพอากาศได้ ดร.เสรีบอกว่าการเพิ่มของอุณหภูมิโลกเป็นจุดทศนิยมก็ส่งผลกระทบรุนแรง ทุก ๆ 0.5 องศาฯ ส่งผลให้เกิดภาวะสุดขีดของสภาพอากาศ
ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เดือนนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงและเป็นอันตราย อุณหภูมิในหลายพื้นที่เพิ่มสูงเกือบแตะ 40 องศาเซลเซียส ล่าสุดแพทย์ที่เยอรมนีได้ออกมาเรียกร้องให้แรงงานในประเทศ มีการนอนกลางวัน หรือเซียสต้า (Siestas) เพื่อรับมือกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและรักษาประสิทธิภาพในการทำงาน โดยหัวหน้าสมาคมแพทย์แห่งกรมสาธารณสุขเยอรมนี เผยว่า เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเราควรปรับตัวโดยใช้วิธีที่ผู้คนในประเทศแถบร้อนทำ คือ การตื่นเช้าเพื่อมาทำงาน เพราะอากาศยังไม่ร้อนมาก จากนั้นพักหรืองีบหลับในช่วงกลางวัน เพราะเป็นช่วงที่ร้อนที่สุด เพื่อประหยัดพลังงานและหลีกเลี่ยงความร้อน ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลที่น่าตกใจว่า จะไม่มีประเทศไหนที่จะหลุดรอดไปจากภัยคุกคามด้านสภาพอากาศได้ ดร.เสรีบอกว่าการเพิ่มของอุณหภูมิโลกเป็นจุดทศนิยมก็ส่งผลกระทบรุนแรง ทุก ๆ 0.5 องศาฯ ส่งผลให้เกิดภาวะสุดขีดของสภาพอากาศ เช่น คลื่นความร้อนที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี จะเกิดเพิ่มขึ้นเป็น 4 ครั้งหากอุณหภูมิเพิ่ม 1.5 องศาฯ และเพิ่มเป็น 6 ครั้งหากอุณหภูมิเพิ่ม 2 องศาฯ และเพิ่มเป็น 9 ครั้งหากอุณหภูมิเพิ่ม 4 องศาฯ ดังนั้นสถานการณ์คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนไปแล้ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หลายประเทศอาจต้องเผชิญกับอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั่วโลกจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ เผื่อในอนาคตจะผ่อนหนักเป็นเบาได้