ฝนตกหนักถึงหนักมาก! เปิดพิกัดจังหวัดเสี่ยงภัย ระวังน้ำท่วม น้ำป่าหลาก ดินถล่ม
ฝนตกหนักถึงหนักมาก! กอนช. เปิดพิกัดจังหวัดเสี่ยงภัยฝนถล่ม และ พื้นที่เฝ้าระวัง ระวังน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก 12 - 18 สิงหาคม 2566
ฝนตกหนักถึงหนักมาก! กอนช. เปิดพิกัดจังหวัดเสี่ยงภัยฝนถล่ม และ พื้นที่เฝ้าระวัง ระวังน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก 12 - 18 สิงหาคม 2566
วันนี้ (9 ส.ค.66) นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (มหาชน) หรือ สสน. เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณชายขอบประเทศ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกหลายพื้นที่ประสบสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง แต่ปริมาณฝนในภาพรวมทั้งประเทศยังคงน้อยกว่าค่าปกติ 18% และจากการเก็บข้อมูลปริมาณฝนสะสม 7 วัน ( 2 – 8 ส.ค.66) พบปริมาณฝนสะสมสูงสุดที่ภาคเหนือ อ. ท่าสองยาง จ.ตาก
มีรายงานพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 จังหวัด ที่ภาคเหนือ จ.ตาก จ.น่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อำนาจเจริญ จ.นครพนม จ.อุดรธานี และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้มีการบูรณาการเข้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบเหตุแล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการคาดการณ์ สภาพอากาศล่วงหน้า 7 วัน (11 – 17 ส.ค. 66) พบว่า จะเกิดร่องความกดอากาศต่ำเหนือประเทศไทยบริเวณประเทศจีนตอนใต้และเหนือประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปริมาณน้ำฝนในช่วงสองวันนี้จะยังไม่มากนัก แต่จะหนักขึ้นในช่วงวันที่ 11 – 13 ส.ค. 66
นอกจากนี้ ยังได้มีการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 7 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.น่าน จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.พังงา และ จ.ระนอง
ซึ่ง กอนช. จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะมีการประกาศแจ้งเตือนในทันที และกำชับหน่วยงานให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยได้ขอให้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด
จากสถานการณ์ฝนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลดีในเรื่องช่วยเติมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยภาพรวมทั้งประเทศมีปริมาณน้ำเติมอ่างสะสม 2,028 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ สูงสุดที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ 789 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 271 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว 186 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนรัชชประภา 75 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนขุนด่านปราการชล 11 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 3 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ขณะที่สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ พบว่า
ขณะนี้มีปริมาณน้ำทั้งประเทศ 42,720 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52 % คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การ 18,616 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32 % ซึ่งยังสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้อีกมาก โดยมีแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์หรือน้ำน้อย แบ่งเป็น ภาคเหนือ 6 แห่ง และภาคตะวันตก 1 แห่ง ” นายฐนโรจน์กล่าว
นายฐนโรจน์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน กอนช.ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรวม 17 จังหวัด 43 อำเภอ โดย 5 อันดับแรกได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.อุตรดิตถ์ จ.นครสวรรค์ จ.ชัยนาท และจ.อุทัยธานี ซึ่งเลขาธิการ สทนช.ได้สั่งการให้ สทนช.ภาค 1 – 4 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แล้งที่เกิดในช่วงฤดูฝนที่พบว่ามีหลายพื้นที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำและเสี่ยงเกิดภัยแล้ง เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนชุมชน และประชาชนในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นและแผนระยะยาวให้เกิดความยั่งยืนควบคู่
กอนช. ยังคงเน้นย้ำความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการเตรียมพร้อมรับการสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอีก 1- 2 ปีข้างหน้า โดยการวางแผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปี การรณรงค์ให้ประหยัดน้ำทุกภาคส่วน รวมถึงการส่งเสริมการปลูกข้าวรอบเดียวและปลูกพืชใช้น้ำน้อยให้มากขึ้น เพื่อสงวนปริมาณน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี ในช่วงวันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้
1. ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน แม่สาย และแม่ฟ้าหลวง)
-จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย)
-จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่สอด แม่ระมาด และอุ้มผาง)
-จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) โดยเฉพาะจังหวัดน่านซึ่งปัจจุบันมีน้ำท่วมขังอยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา และอำเภอแม่จริม ระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี)
-จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า เซกา ศรีวิไล พรเจริญ โซ่พิสัย และบึงโขงหลง)
-จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม ท่าอุเทน ศรีสงคราม บ้านแพง นาทม และโพนสวรรค์)
-จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง และอากาศอำนวย)
3. ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง)
-จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ และท่าใหม่)
-จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด คลองใหญ่ บ่อไร่ แหลมงอบเขาสมิง เกาะกูด และเกาะช้าง)
4. ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี)
-จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี และท้ายเหมือง)
-จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)
-จังหวัดสตูล (อำเภอละงู) จังหวัดตรัง (อำเภอกันตัง สิเกา และปะเหลียน)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
ที่มา กอนช.
ภาพจาก ผู้สื่อข่าวจังหวัดตาก